เรื่องของ พลังงาน ยังเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจระดับมหภาค อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เป็นอุตสาหกรรมใช้กระบวนการทางเคมีขั้นสูง เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจาก ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถ่านหิน มาเป็น ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นประโยชน์ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร ส่วนประกอบในยานพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ล้วนแต่ถูกพัฒนาทางเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน

ประเทศไทย เคยประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำมัน จนต้อง รณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน และต้องนำเข้าน้ำมันในราคาแพง ซึ่งต่อมาก็เริ่มหันมาพึ่งพาแหล่งพลังงานในประเทศ มีการขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวไทย รัฐบาลส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างจริงจัง เป็นช่วงพอดีกับกลุ่ม OPEC รวมตัวกันในการควบคุมและผลิตน้ำมัน การพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเริ่มจากปี 2516 มาจนกระทั่งปี 2527 รัฐบาลมีการลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลจากอ่าวไทย รวมถึงโรงแยกก๊าซขึ้นมา เป็นก้าวแรกของการเติบโต อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยสอดรับกับความต้องการใช้พลังงานและสินค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจ

แบ่งเป็นหลายประเภทหลายชนิด อาทิ PET นำมาใช้ผลิตขวดน้ำดื่ม บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและยา HDPE ภาชนะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ขวดยาสระผม ลังพลาสติก PVC นำมาใช้เป็นตลับเครื่องสำอาง ท่อประปา แผ่นฟิล์มห่ออาหาร LDPE ฟิล์มหดและฟิล์มยืดสำหรับห่ออาหาร ฟิล์มคลุมโรงเรือนการเกษตร PP ถาดใส่อาหารทนความร้อนสูง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ของรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ PS วัสดุกันกระแทก ส่วนประกอบของ เครื่องใช้ไฟฟ้า หมวกกันน็อก แผ่นฉนวน ความร้อน และพลาสติกอื่นๆที่นำมาหลอมใช้ใหม่ได้ เช่นโพลีคาร์บอเนต เป็นต้น

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีมูลค่าการลงทุน มากกว่า 1.25 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ 0.84 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ของ GDP คิดเป็น มูลค่าการส่งออก 0.49 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 ของการส่งออก ทั้งหมด สร้างงาน กว่า 4.14 แสนคน สนับสนุนธุรกิจ SME กว่า 3,000 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ถึง 10-25 เท่า

...

ในภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือปิโตรเลียมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และสามารถขยายต่อยอดตามความต้องการของตลาดและสินค้าให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลายประเภท เป็นวงจรของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต

ด้วยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้ ปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาและหล่อเลี้ยงประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน นำไปสู่ความแข็งแกร่งเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงประเทศ นอกจากการส่งออก การบริการ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรองรับการเติบโต อุตสาหกรรมประเภทนี้รวมทั้งกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่บ้านเรามีความได้เปรียบและพร้อมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ โดยต้องมีการพัฒนาไปสู่การแข่งขันในอนาคต และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม