พฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเชื่อได้ว่า “ฮั้ว” กกต.ยิ่งจับตาติดตามใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบโจทย์ของสังคมที่ตั้งคำถามถึงกระบวนการเลือก สว. ซึ่งมีกลุ่มบุคคลกำลังเตรียมทำผิดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.
ทั้งที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 60 ตั้งใจออกแบบ “นวัตกรรมความคิด” ระบบใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนระบบเลือกตั้ง สว.โดยตรง และระบบแต่งตั้ง สว.
กลับมาเผชิญด่านใหญ่ “ฮั้ว” ถือเป็นการบ้านใหญ่ กกต.ตั้งใจ มุ่งมั่นป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ป้องกันได้แค่ไหนเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยเป็นหูเป็นตา ละเว้น ละทิ้ง และทำในสิ่งที่ถูกต้อง
โดยเริ่มตั้งแต่ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้ เช่น “เลือกโดยประชาชนที่สมัคร-ผู้สมัครเลือกกันเอง” ใครมีสิทธิสมัครบ้าง แบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพอย่างไร สมัครในกลุ่มที่ประชาชนมีประสบการณ์ ลงสมัครได้แค่อำเภอเดียว คุณสมบัติบุคคลที่เซ็นรับรองผู้สมัคร เปิดกว้างให้สะดวกที่สุด ผู้สมัครมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร เปิดให้เลือกผู้รับรองที่สมเหตุผล น่าเชื่อถือในสายตาของผู้สมัคร
สมมติเล่นดนตรี 15 ปีที่ผับ จ.เชียงใหม่ เอานักดนตรีหรือลูกค้าที่มาฟังเพลงเป็นประจำ เซ็นรับรองประวัติได้ ไม่ถึงขั้นไปเอาผู้ว่าราชการจังหวัดมาเซ็นรับรองหรือมีนักข่าว นส.พ.ไทยรัฐคนหนึ่งลงสมัครไปหานายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ เซ็นรับรองก็เกิดความน่าเชื่อถือ
พอถึง 24 พ.ค.67 เป็นวันสมัครสุดท้าย ปิดรับสมัครปุ๊บ กกต.อัปข้อมูลรายชื่อผู้สมัครทุกอำเภอ ทุกกลุ่มขึ้น “สมาร์ทโหวต-เว็บไซต์ กกต.” ในวันนั้นหรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้
...
ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม คาดมีผู้สมัคร 1 แสนคน เริ่มตรวจทันทีที่ได้รับใบสมัคร กกต.รวบรวมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นใช้เวลา 5 วัน นับจากวันปิดรับสมัคร ถ้ายังตรวจไม่พบว่าขาดคุณสมบัติ ก็ประกาศรายชื่อ วันรุ่งขึ้นอัปชื่อ-รูป-ประวัติ-ประสบการณ์-กลุ่มอาชีพลงสมัคร ลงในสมาร์ทโหวต
นักกฎหมายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าสมมติมีผู้สมัคร 1 แสนคน มีการร้องให้ตรวจสอบ “ผู้รับรอง” ผู้สมัคร 5 หมื่นคนว่าไม่สมเหตุผล ก่อให้การเลือก สว.ปั่นป่วน ประกาศผลรับรองล่าช้าหรือการเลือกเป็นโมฆะได้ นายอิทธิพร บอกว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะผู้สมัครเป็นตัวหลัก ผู้รับรองเป็นส่วนประกอบ ทำให้ใบสมัครมีความน่าเชื่อถือ
ถ้าตรวจพบเป็นผู้รับรองปลอม ผู้สมัครต้องรับผิด
“ไม่สมเหตุผลมันพิจารณายาก เพราะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้รับรอง ถ้าไปกำหนดคุณสมบัติของผู้รับรองเอาไว้ ก็มีคนมาร้องมากกว่าอีก
ปล่อยให้ผู้สมัครเลือกเอง เป็นการอำนวยความสะดวก เห็นว่าใครสมเหตุสมผลก็ให้เซ็นรับรอง โอกาสที่วืดมีคนร้องอาจน้อยกว่า
ขอย้ำว่าเป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ผู้สมัครมีอิสระ ลงสมัครในอาชีพที่ตัวเองถนัด มีค่าสมัคร 2,500 บาท ไม่มากไม่น้อย ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นอีกแล้ว
ยิ่งประชาชนสมัครเยอะ ผู้สมัครย่อมดูแลประโยชน์ตัวเองว่าใครโกง การกระทำผิดรูปแบบต่าง ๆ ก็ยิ่งยากขึ้น ทำให้การฮั้วยากขึ้น”
จนถึงขณะนี้ กกต.จับตาดูพฤติการณ์อะไรเป็นพิเศษ นายอิทธิพร บอกว่า ขอให้ทำอะไรอย่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะ กกต.มีกระบวนการตรวจสอบ
โดยมีชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับตำรวจ-เจ้าหน้าที่สายสืบ-ฝ่ายข่าว-ผู้ตรวจการเลือกตั้ง-กลไกท้องถิ่น ศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส.ปชต.)ทั่วประเทศ-หมู่บ้านไม่ขายเสียง-ตำรวจไซเบอร์ร่วมกับทีมสืบสวนไต่สวน เป็นกองกำลังไซเบอร์
ตอนนี้เริ่มไปดูๆ ดมๆ ประเด็นไหนมีข่าวต้องไปหา โดยให้การบ้านไปแล้ว เรื่องไหนที่พูดคุยกันก็ต้องเข้าไปดู
โดยเฉพาะที่ดูพูดถึงจับกลุ่ม-ฮั้วเลือก สว.
“การกระทำฮั้วไม่เหมือนแจกเงิน กลุ่มผู้สมัครคิดฮั้วก็ใช้เงินฮั้วไม่น้อย หากเป็นกลุ่มทุนข้างนอกอาจพร้อมสู้ ลงทุนเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ไม่อยากพูดแบบนั้น
มันต้องรวมกลุ่ม พูดคุย นัดหมาย ใช้แอปพลิเคชันโทรศัพท์ก็มีบันทึกว่าใครโทร.หาใคร ถ้าตรวจสอบภายใน 3 เดือนระบบยังไม่ลงทิ้ง
อย่านึกว่า ก.ก.ต.ตามไม่ทัน หากมีประเด็นทางไซเบอร์ก็มีตำรวจไซเบอร์เข้าร่วมในทีมสืบสวนด้วย แม้ไม่ง่ายที่วิ่งไล่จับหนูตามผู้กระทำความผิด
อาจวิ่งตามช้าไปหนึ่งก้าว แต่การกระทำผิดเป็นขบวนการ กระทำต่อเนื่อง ในที่สุดอาจจับได้ ฉะนั้นอย่าคิด อย่าทำ กติกาออกแบบมาไม่ให้ฮั้ว ก็อย่าฮั้วกันสิ”
ไม่ว่าฮั้วเลือกรูปแบบไหน กกต.ดำเนินการหมด
เพราะกติกาไม่ให้สมยอมกันเอง “ต้องเลือกที่คุณสมบัติ” เช่น คดีปี 61 ผู้สมัคร สว.โทรศัพท์หากัน “ถ้าลงให้ผม ผมจะลงให้คุณ” แบบนี้ถือว่าฮั้ว พยานหลักฐานมีโทรศัพท์ที่พูดแบบนี้ ส่งศาลตัดสินลงโทษ
สโคปต้องการให้แนะนำตัว เช่น โทรศัพท์ไปหาผู้สมัคร ก. บอกว่า “ผมลงกลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรีฯ ถนัดเล่นกีตาร์ เห็นผู้สมัคร ข.เล่นกีตาร์เหมือนกัน เดี๋ยวส่งเพลงไปให้ดูว่าผมเล่นอย่างไร ถ้าเห็นว่าดีก็ฝากผมไว้ในดวงใจด้วย” แนะนำตัวแบบนี้ไม่เป็นอะไร
มีขบวนการเกณฑ์คนลงสมัคร เพื่อเข้าไปเลือกคนของบ้านใหญ่ ที่ใช้สัญลักษณ์ สมมติใส่เครื่องประดับสีนั้นสีนี้ นายอิทธิพร บอกว่า ถ้าพบทำเป็นขบวนการ พอดูกล้องวงจรปิด ทีวีวงจรปิดตลอดเวลาที่มีการเลือก จุดเริ่มต้น 928 อำเภอ
ตาคนอาจมองไม่เห็น แต่ตาสับปะรดที่เป็นกล้องมองเห็น เพื่อตรวจสอบมีพฤติกรรม ข้อเท็จจริงอะไรที่ส่อกระทำผิดกฎหมาย เอ-บี-ซี-ดี และการฮั้ว การสมยอมด้วย
กกต.ถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยอาวุธเด็ด คือประชาชนที่เข้ามาตรวจสอบได้ รวมถึงภาคประชาชน และยังมีองค์กรเอกชนที่เข้ามาตรวจสอบ ยิ่งเยอะยิ่งดี
ขอบอกอีกครั้งเชิญชวนประชาชนว่า การเลือกตั้งทุกระดับ กกต.มีเงินรางวัลชี้เบาะแสการทุจริต โดยพบเห็นเหตุการณ์ทุจริต รายงานให้ กกต.ทราบพร้อมข้อมูล พยานหลักฐาน และศาลตัดสินลงโทษ ผู้ให้ข้อมูลเบาะแสมีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท ที่ผ่านมาหลายรายได้ไปแล้ว แต่ยังไม่มีใครได้ถึง 1 ล้านบาท
กลไกตรวจสอบมันเข้มข้นกว่าเดิมเยอะมาก
กกต.จับตาดูเครือข่ายพรรคการเมืองเป็นพิเศษอย่างไร ที่มีบางพรรคเริ่มมีพฤติการณ์ฮั้วเลือก สว. แม้หลายพรรคประกาศไม่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. นายอิทธิพรบอกว่า จับตามองอยู่แล้ว
พรรคการเมืองประกาศแสดงเจตนารมณ์ยิ่งดีใหญ่ บ่งบอกว่าจะไม่ทำผิด แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าพรรคนั้นไปทำผิด ต้องรับผิดตามกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. และรับผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งออกแบบมาไม่อยากให้เข้าไปครอบงำ ไปมีส่วนผูกพันกับผู้สมัคร
ระบบที่เลือกแบบขั้นบันได ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และประเทศ กกต.ต้องปรับกลยุทธ์เชิงรุกอย่างไร เพราะขบวนการฮั้วเริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ นายอิทธิพร บอกว่า พฤติกรรมพวกนี้จะไม่ได้ทำครั้งเดียว เริ่มจากการข่าวของผู้สมัคร และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
ตัวเลขที่ตั้งเอาไว้ระดับอำเภอ ถ้าผ่าน คือ 55,000 คน บวกๆ เผื่อมีใครทำพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อเนื่อง มันอาจไม่ยากต่อการติดตาม
ไปถึงระดับจังหวัด ข้อมูลที่ กกต.มีก็ค่อยๆ เก็บเอาไว้ อันไหนมันน่าสงสัยต้องจับตาเป็นพิเศษตามการกระทำ ปกติที่ กกต.ส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งลงพื้นที่ มันเข้มข้นขึ้นตามลำดับเมื่อคนจำนวนน้อยจะจับตามองง่ายขึ้น
ฮั้ว 3 ระดับ ต้องทำ 3 ครั้งพฤติกรรมต่อเนื่อง
ยิ่งวงแคบขึ้น กกต.ต้องจับตาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อได้ตัวแทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม