ผ่านมา 10 ปี คสช.ทำรัฐประหาร “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประเทศได้รัฐบาลใหม่สลายขั้ว กปปส.-นปช. ส่วน “ทักษิณ” ได้เหยียบแผ่นดินไทย ขณะที่ข้าว 10 ปี เตรียมถูกประมูลขาย กับหนทางพา “อาปู” กลับบ้าน

  • จากวิกฤติทางการเมือง เกิดการชุมนุมของกลุ่มสีเสื้อระหว่าง กปปส. และ นปช. รวมถึงประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน และการคัดค้านร่างนิรโทษกรรมฯ จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมยึดอำนาจ ใช้ ม.44 ตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี 
  • ขณะที่คดีโครงการรับจำนำข้าวที่ตามหลอกหลอน และอีกหลายคดีที่ถาโถม ก็ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ
  • ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 10 ปีแล้ว ประเทศเปลี่ยนไปอย่างไร ทางการเมืองเน่นอนว่า “วาทกรรมปรองดอง” ถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้ง หลังรัฐบาลเพื่อไทย จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรคพลังประชารัฐ ของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์
  • ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร ได้เหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้งในรอบ 15 ปี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกฯ โครงการจำนำข้าวที่ถูกทิ้งไป 10 ปี ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งและเตรียมประมูลขายเร็วๆนี้ กับความหวังของ “ยิ่งลักษณ์” ที่จะกลับไทยได้เหมือนพี่ชายหรือไม่


ย้อนรอย รัฐประหาร “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” 22 พฤษภาคม 2557

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยในขณะนั้นเกิดวิกฤติทางการเมือง เกิดการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อต้องการโค่นล้มรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยอ้างเหตุผลมาจากเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่แค่มีกลุ่มค้าน เพราะยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลด้วย นั่นคือกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าแนวคิดของตนเองถูกต้อง จนไม่สามารถหาทางออกให้ประเทศได้

...

เป็นเหตุให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบในขณะนั้น ต้องเชิญตัวแทนทั้ง 7 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ตัวแทนกปปส. ตัวแทนนปช. ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตัวแทนจากวุฒิสภา หารือทางออกประเทศอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังจากถกรอบแรกไปแล้วแต่ไม่ได้ข้อยุติ โดยบรรยากาศในวันนั้นมีแต่ความตึงเครียด ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อสรุป พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจทุบโต๊ะทำรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมเสริมกำลังทหาร จาก พล.ม.2 รอ. ร.1 รอ. มาปิดทางเข้าออกสโมสรทหารบก กันผู้สื่อข่าวและช่างภาพให้ออกไปรวมตัวอยู่ที่อาคารกำลังเอก และนำตัวแกนนำแต่ละคนขึ้นรถตู้ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยมีทหารถือปืนนั่งประกบ มีการนำผ้าสีดำมาปิดตาแกนนำ นปช. แต่ไม่มีการปิดตาแกนนำ กปปส. เพื่อนำไปคุมตัวภายในบ้านพักรับรอง ร.1 รอ.

จากนั้นเวลา 17.07 น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ  ได้ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และต่อมาได้ออกประกาศ “กฎอัยการศึก” จนนำไปสู่การตั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อเข้ามาบริหารประเทศ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งกุมอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 พร้อมแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ นั่งรองนายกรัฐมนตรี และกำกับดูแลกระทรวงต่างๆ คู่ไปด้วย 

ผ่านไป 10 ปี ประเทศเปลี่ยนไปอย่างไร

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจปกครองประเทศได้ถึง 2 สมัย มาสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2566 พรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้พรรคเพื่อไทย พรรคอันดับ 2 ก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน และผลักพรรคก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน มีการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพล.อ.ประยุทธ์ แม้ก่อนการเลือกตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้ยืนยันกับประชาชนเอาไว้ว่า จะไม่จับมือกับ คสช. ท่ามกลางกระแสดีลลับเพื่อต้องการนำตัว นายทักษิณ ชินวัตร กลับไทย

กระทั่ง 22 สิงหาคม 2566 วันโหวตเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในสภาฯ นายทักษิณ ที่ประกาศจะกลับประเทศไทยในรอบ 15 ปี ได้เดินทางกลับไทยจริงๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และอีกนัยนึงก็ถูกมองว่า นายทักษิณ คือตัวประกันทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อไทย โดยนายทักษิณใช้สิทธิผู้สูงอายุที่อายุเกิน 70 ปี พ่วงกับมีโรคประจำตัว ทำให้ได้ไปกักตัวที่ รพ.ตำรวจ แทน ก่อนจะได้รับอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี และได้รับการพักโทษมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านพักได้ แต่ห้ามออกนอกประเทศ หลังเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งข้อกฎหมายเหล่านี้ล้วนออกในช่วงปลายยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสิ้น โดยให้เหตุผลว่า ป้องกัน “คนล้นคุก” ลดภาระกรมราชทัณฑ์ในการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ต้องขัง และมองว่าคนอายุมากกว่า 70 ปี ไม่มีแรงไปปล้นฆ่าใครได้แล้ว

หากขายข้าว 10 ปี ไม่ใช่ปูทาง “ยิ่งลักษณ์” กลับบ้าน จะมีโมเดลไหนที่ดีกว่า?

แต่ที่น่าจับตาที่สุด คงไม่ใช่แค่การพักโทษ นายทักษิณ แต่คือการหาทางออกเพื่อนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวกลับบ้าน แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้โมเดลใด เพราะไม่เข้าเงื่อนไขอายุ 70 ปี หรือมีโรคประจำตัว ขณะที่ทางรัฐบาลเพื่อไทยก็พยายามลบภาพการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการพยายามจะนำกลับมาขายใหม่ เพื่อยืนยันว่าข้าวยังมีคุณภาพ ไม่ใช่ข้าวเน่า และยังเป็นการหาเงินให้ประเทศได้ถึง 200-300 ล้านบาท ถึงแม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่ใช่การฟอกขาวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อปูทางกลับไทยก็ตาม แต่ก็ลบความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ดี

คสช. หมดบารมี ลูกพรรครอวันสลาย

ส่วนทางพรรคขั้ว คสช. เดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้ก็เหมือนอยู่ในสถานะพยายามประคับประคองให้รอดจนสิ้นรัฐบาล แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะส่งน้องชายอย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มานั่งเป็นรองนายกฯ และคุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่แรงกระเพื่อมในพรรคก็ร้อนแรง พร้อมสลายขั้วได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่คาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะย้ายกลับไปซบพรรคเพื่อไทย ขณะที่บ้านใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐก็เตรียมจะตีจากแล้วเช่นกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องวัดกำลังภายใน เพื่อคุมคนของตัวเองให้อยู่ให้ได้

ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำกับดูแล ภายหลัง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปนั่งเป็นองคมนตรี พรรคก็ระส่ำระสายหนัก คนในสาย พล.อ.ประยุทธ์ ทยอยลาออกจากพรรค เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก จนมีข่าวลือหนาหูว่าบางส่วนเตรียมจะไปซบพรรคประชาธิปัตย์อย่างเดิม

ขณะที่ นายทักษิณ หลังได้พักโทษ บทบาททางการเมืองก็ชัดมากยิ่งขึ้น ไม่มีท่าทีว่าจะกลับไทยเพื่อมาเลี้ยงหลานเพียงอย่างเดียว เพราะการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ของในพรรค และรัฐบาล ยังอยู่ในบ้านตระกูลชินวัตรแทบทั้งสิ้น.  

ผู้เขียน : Supattra.l

กราฟิก : Anon Chantanant