“40 สว.” เข้าชื่อยื่นศาลรธน. ตีความคุณสมบัติ “พิชิต-เศรษฐา“ โดยนายกฯ โดนพ่วง ฐานชงชื่อ ชี้ ต้องรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของวุฒิสภา (สว.) ว่า บรรดาสว. ได้ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ของนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วย ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา

และล่าสุดเรื่องดังกล่าวถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาแล้ว โดยนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. ฐานะผู้ร่วมลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ สว. ที่ต้องทำหน้าที่ ฐานะเป็นผู้แทนปวงชนหลังประเด็นการดำรงตำแหน่งของนายพิชิตนั้น มีผู้แสดงความเห็นในวงกว้าง และเวทีสาธารณะว่า เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายเห็นว่า ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย โดยมี สว. ร่วมเข้าชื่อรวม 40 คน จากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ สว.ที่มีอยู่ สำหรับเหตุผลที่ระบุและบรรยายให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งกรณีของนายพิชิตนั้น มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นว่ามีการละเมิดอำนาจศาล และมีคำสั่งศาลสั่งให้จำคุก ทั้งนี้มีคำบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงของศาลที่ชัดเจนว่ามีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และยังมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

...

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวถึงกรณียื่นให้พิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐา ด้วยว่า เป็นกรณีสืบเนื่องกัน ว่า มีประเด็นที่ทักท้วงต่อการตั้งนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่ง แต่ทำไม นายกฯ ยังเสนอชื่อและโปรดเกล้าฯ ให้นายพิชิตดำรงตำแหน่งในตำแหน่งรัฐมนตรีอีก ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ

"กรณีนายกฯ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ส่วนที่ระบุว่าได้หารือกับกฤษฎีกาแล้ว พบว่า เป็นการหารือที่ไม่ตรงประเด็น ทั้งระยะเวลาการพ้นโทษ และการตีความระหว่างคำสั่ง กับคำพิพากษาเหมือนกันหรือไม่ ทั้งนี้เรายังพบประเด็นที่เป็นปัญหา จึงเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ ตนทราบว่าสำนักงานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และจากสำเนาเอกสารทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องแล้วเมื่อเวลา 10.20 น. ของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ต้องพิจารณาในประเด็นความสิ้นสุดลงของรัฐมนตรี และตำแหน่งนายกฯ ด้วย โดยรายละเอียดต่อจากนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา สำหรับผมยืนยันว่า เป็นการทำหน้าที่ฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยตามหน้าที่และอำนาจของสว. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว