ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย มติบอร์ดค่าจ้างเห็นชอบให้อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เหตุ บริบทแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เร่งดำเนินการให้เสร็จใน ก.ค.นี้ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่

วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันนี้ มีมติเห็นชอบว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ จะให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่า แต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไร และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้ด้วยว่า ควรบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568 

การพิจารณาค่าจ้างภายใต้คณะกรรมการไตรภาคีในครั้งนี้จะให้เกียรติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดก่อน ในการจัดประชุมเพื่อพิจารณานำเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ภายใต้กรอบแนวคิดในเรื่องของค่าครองชีพของจังหวัดนั้นๆ สภาพเศรษฐกิจ สภาพเงินเฟ้อ และที่สำคัญที่ต้องมองคือ ราคาสินค้าในท้องตลาดของจังหวัดนั้นๆ ด้วย เนื่องจากบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน

...

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ต้องเข้าใจว่าในบางกิจการที่มีกำลังน้อย เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี ค้าปลีก ค้าส่ง หรือแม้กระทั่งภาคเกษตร ชาวสวน ชาวไร่ ต้องมาดูรายละเอียด อยากให้จังหวัดซึ่งรู้บริบทความต้องการความจำเป็นของการจ้างงานในจังหวัดนั้นๆ เสนอมาให้คณะอนุกรรมการวิชาการ และกลั่นกรองพิจารณาความต้องการความจำเป็นของการขึ้นค่าจ้าง เพื่อเสนอมาให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่มาเคาะพิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายก่อน 

สำหรับไทม์ไลน์ จะให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 จากนั้นคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณา และคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ จะดำเนินการการพิจารณาค่าจ้างให้แล้วเสร็จเพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ โดยคณะกรรมการค่าจ้างจะทำให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงกับความต้องการทั้งฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้ใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติที่ประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่นำมิติของเวลามาใช้ในสูตรฯ ประกอบกับการพิจารณาตัวแปรเชิงคุณภาพตามมาตรา 87 โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และเศรษฐกิจและสังคม ในบริบทของแต่ละจังหวัด 

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะได้นำข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด กับข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานในภาพรวมทั้งระดับประเทศ มาพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป.