เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงสัญชาตญาณ “มด” ที่มักจะรู้ว่าเกิดภัยธรรมชาติประเภทฝนตกฟ้าร้องน้ำท่วมได้ดีกว่าสัตว์อื่นๆ...เปรียบเทียบกับสัญชาตญาณของ “คนแก่” หรือ “ผู้อาวุโส” ซึ่งมักจะคาดการณ์เภทภัยทางการเมืองได้ดีกว่าผู้คนกลุ่มอายุอื่นๆเช่นกัน

โดยเฉพาะตัวผมเองที่นั่งอยู่ตรงนี้มานานมาก เห็นเหตุการณ์มาเยอะมาก...พอดีนั่งดูยูทูบ พบว่ามีกลุ่มที่ใช้อักษรย่อว่า คปท.ก่อตัวขึ้นมาปราศรัยและอภิปรายประท้วง “คนแดนไกล” คนหนึ่งที่กลับมาบ้านเรียบร้อยแล้ว...ณ บริเวณสะพาน ชมัยมรุเชฐ ใกล้ๆทำเนียบรัฐบาล

ผมจึงลงท้ายด้วยการเตือนว่า ผมไม่ค่อยสบายใจ รู้สึกสังหรณ์อะไรบางอย่างทางการเมือง คล้ายกับที่ฝูงมดทั้งหลายสังหรณ์ใจเรื่องฝนตก น้ำท่วม ที่ผมไปพบมาในการไปพักผ่อนชายทะเล เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น

ที่ต้องมาเขียนอีกในวันนี้ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะเมื่อวันอาทิตย์นี้เอง ผมกับครอบครัวมีนัดจะไปรับประทานอาหารอร่อยๆ แถว พุทธมณฑล

จะต้องขับรถข้ามทางด่วนมาลงที่ยมราช ผ่าน สะพานชมัยมรุเชฐ ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาลไปยังถนนราชดำเนินนอก แล้วไปข้ามสะพานพระราม 8 เพื่อเดินทางไปสู่พุทธมณฑลดังกล่าว

ได้เห็นทัศนียภาพรอบๆสะพานชมัยมรุเชฐอย่างเต็มตาเลยทีนี้ ทำให้ต้องกลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อตามประสา “ผู้เฒ่า หรือ ส.ว.” ที่ตื่นภัยการเมือง และผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมามากพอสมควรในชีวิตนี้

ภาพที่ผมเห็นกับตาตนเอง (วันก่อนเห็นจากยูทูบ) ก็คือบริเวณใกล้ๆสะพานชมัยมรุเชฐ มีการตั้งเต็นท์ มีลักษณะเป็นที่พักอาศัยหลับนอนอย่างถาวรอยู่หลายๆเต็นท์

ข้างเต็นท์กั้นด้วยแผ่นป้ายโฆษณาสินค้าเก่าๆหรือไม้อัดเก่าๆเป็นที่กันแดดกันฝนเอาไว้ด้วย

...

ผมบอกไม่ถูกว่ามากขนาดไหน แต่ก็เห็นว่าน่าจะเต็มบริเวณที่ว่างที่อยู่หน้าสถาบันการศึกษาที่สำคัญมากของประเทศไทยสถาบันหนึ่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร หรือในอดีตก็คือ โรงเรียนพณิชยการพระนคร ที่โด่งดังมากเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วนั่นเอง

เห็นภาพแล้ว สังหรณ์ของผมก็หมุนกลับไปในยุคที่มีการต่อต้านรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จนกลายเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ของนักการเมือง 2 กลุ่ม และจบลงด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร โดยบิ๊กตู่ เมื่อ 22 พ.ค.2557

ครั้งนั้นก็เริ่มจากก่อตัวกลุ่มเล็กๆของคนไม่พอใจรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ที่บริหารตามนโยบายคนแดนไกล ที่เพิ่งกลับบ้านเมื่อไม่นานนี้เอง

ผมจำไม่ได้ว่าการชุมนุมครั้งแรกเริ่มที่ไหน จำได้แค่ว่าแรกๆก็ไม่มากนักแต่ทำไปๆก็มากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของผู้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว

ช่วงนั้นผมน่าจะอายุ 70 กว่าๆนิดๆ และไม่ฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอันเป็นแนวทางการเขียนคอลัมน์นี้มาโดยตลอด

ของใครดีก็ว่าดี ของใครไม่ค่อยดีหรือน่าเป็นห่วงผมก็จะติงตามสไตล์ผมว่าไม่ดีอย่างไรบ้าง ที่สำคัญผมไม่อยากเห็นการทะเลาะกันหรือปะทะกัน เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจและการหยุดชะงักของการพัฒนาประเทศอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ผมเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าคนไทยของเราส่วนใหญ่มีความเก่งพอสมควร มีความสามารถและมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง

ขอเพียงอย่าทะเลาะกัน ขอให้หันหน้าเข้าหากัน ยึดมั่นในหลักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสั่งสอนไว้ว่า “รู้ รักสามัคคี” เท่านั้น ก็จะเดินหน้าไปเป็นประเทศรายได้สูงขึ้นได้อย่างที่หวังไว้

ผมก็เขียนตามสไตล์ผม...ขอให้รู้รักสามัคคีและอย่าทะเลาะกัน...แต่ในที่สุดทั้ง 2 กลุ่มก็ยังทะเลาะกัน จนมือที่ 3 เข้ามายึดอำนาจอย่างที่เกิดขึ้น

ดังนั้น เมื่อมานั่งรถผ่านที่สะพานชมัยมรุเชฐโดยไม่ตั้งใจ และได้เห็นเต็นท์เกิดขึ้นเช่นนั้น แม้จะยังมีไม่กี่หลังและผู้คนที่มาฟังคืนหนึ่งก็คงไม่กี่ร้อยคน

แต่สัณชาตญาณ “ผู้เฒ่า” หรือ “ส.ว.” ของผมก็เริ่มทำงานแล้วครับ

โชคดีที่พอข้ามสะพานชมัยมรุเชฐมาผมมองไปทางขวาก็เห็น วัดเบญจมบพิตร 1 ในวัด 9 วัดที่ผมให้ความเคารพนับถือและจะเวียนมาไหว้เสมอๆในช่วงเทศกาลปีใหม่

ผมไหว้แล้วครับเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว...ไหว้ขออย่าให้สังหรณ์อันเหลวไหลของผมครั้งนี้เป็นความจริง!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม