กลุ่มหนุน-ต้าน ปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ พร้อมใจยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ต่างอ้างเหตุผล คนละด้าน ขณะที่ “พิพัฒน์” โชว์ควงสากตำสนั่น ยัน 1 ต.ค.นี้ปรับแน่ แต่จะไปหารือกับนายกฯและต้องเป็นมติบอร์ดไตรภาคี พร้อมเปิดห้องประชุมร่วมตัวแทนสภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ รับฟังผลกระทบ ที่โอดปรับขึ้นค่าจ้างยกแผงเท่ากัน ผู้ประกอบการเจ๊ง ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้

ที่หน้าอาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 13 พ.ค.กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท.เข้ายื่นหนังสือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สนับสนุนให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยนำสินค้า อาหาร และพืชผักที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ติดป้ายราคามากองไว้พร้อมประกาศว่าค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศค่าจ้างจึงต้องปรับอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ขอให้กำลังใจนายพิพัฒน์ ที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แม้จะไม่ถึง 492 บาทตามที่ สสรท.เคยเรียกร้อง แต่เป็นนิมิตหมายที่ดี ถือว่านายพิพัฒน์เดินมาถูกทางแล้วขอให้กำลังใจให้ทำสำเร็จ โดยนายพิพัฒน์ได้ยืนยันจะทำตามที่ประกาศไว้ด้วยการใช้สากกะเบือตำลงในครกที่มีข้อความ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ที่กลุ่ม สสรท.จัดเตรียมมา พร้อมเซ็นชื่อกำกับไว้บนครกด้วยเรียกเสียงเฮลั่น

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ยืนยันเจตนารมณ์ในการปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่าการปรับขึ้น 400 บาททั่วประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามที่คิดและตั้งใจทั้งหมด แต่จะเดินหน้าไปพร้อมกัน ตนและปลัดกระทรวง ข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ เพราะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาทตั้งแต่ปี 2554 ผ่านมากว่า 10 ปี วันนี้ค่าจ้างยังก้าวไปไม่ถึง 400 บาท นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งมีการหารือกันแล้วคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาท ในปี 2570 โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯและเอสเอ็มอีเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ภาษี การอัปสกิล รีสกิล เสริมทักษะ อาชีพให้กลุ่มลูกจ้าง ยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

...

ต่อมาเวลา 10.30 น. ตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกว่า 20 คน นำโดยนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการหอการค้าแห่งประเทศ ไทย เข้ายื่นหนังสือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยนายพิพัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองและจะนำไปหารือกับ นายกรัฐมนตรี

จากนั้นนายพิพัฒน์ได้เข้าประชุมหารือผลกระทบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำมากำหนดมาตรการช่วยเหลือและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ค่าจ้างในวันที่ 14 พ.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เอสเอ็มอี และกลุ่มก่อสร้าง เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบมาก เป็นหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้างที่จะไปพิจารณาต่อไป ยืนยัน 1 ต.ค.ปรับค่าจ้างแน่นอนแต่ต้องดูเป็นบางกิจการ

ขณะที่นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ปีนี้มีการปรับค่าจ้างแล้วครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค.2567 ครั้งที่ 2 ปรับวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา แล้วจะมาปรับอีกเป็นครั้งที่ 3 ในเดือน ต.ค. ถือเป็นการปรับค่าจ้างที่ไม่สมเหตุผลตามดัชนีชี้วัด แต่เราก็ให้ความร่วมมือ ในการหารือว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมทั้งต่อฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่