รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ชูนโยบายหลัก ซอฟต์พาวเวอร์ ในการบริหารประเทศ ที่จะแยกเป็นสาขาต่างๆ และทุกกระทรวงจะมีหน้าที่รับไปปฏิบัติโดยยึดหลักการทำงานของ คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายกฯ เศรษฐา เป็นประธาน ในจำนวนนั้นคือ การท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ตั้งเป้าปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นสินค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกันมากๆ ส่วนใหญ่จะขายธรรมชาติ และที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปทิ้งทวนกันก่อนเดินทางกลับ คือ ประเภทร้านของฝากของที่ระลึก และเอาต์เล็ต เพื่อระบายเหรียญในกระเป๋าพอหอมปากหอมคอ

ในยุคปัจจุบัน แพลตฟอร์มออนไลน์ ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว มีมือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถทำคอนเทนต์ สร้างรายได้เป็นงานอดิเรก สรุปว่า การท่องเที่ยว ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ง่ายที่สุดไม่ต้องมีต้นทุน โดยอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เป็นเสน่ห์ เป็นแรงจูงใจให้คนเดินทางมาท่องเที่ยว

ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีหลายประเภท เที่ยวจริงๆ เที่ยวทำธุรกิจสีเทา และมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนคนไทยที่แอบไปทำงานในเกาหลีใต้ เป็นผีน้อยทำงานทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย นักท่องเที่ยวต่างประเทศต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การท่องเที่ยวก็เหมือนดาบสองคม เปิดเสรีมากเกินไป ได้จำนวนนักท่องเที่ยวแต่อาจไม่ได้คุณภาพและเกิดผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้จะเห็นข่าวว่า ทางการญี่ปุ่น ตั้งฉากกั้นสีดำขนาดใหญ่บังวิวภูเขาไฟฟูจิ อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อลอว์สัน เพราะบริเวณดังกล่าว มีนักท่องเที่ยวแห่กันมาถ่ายภาพกับภูเขาไฟฟูจิจนชาวบ้านบริเวณนั้นไม่เป็นอันทำมาหากิน ซึ่งอันที่จริงเมืองฟูจิคาวากุจิ มีมุมอื่นให้ถ่ายรูปกับภูเขาไฟฟูจิมากมาย แต่วิวหน้าร้านลอว์สันถือว่าเป็นวิวมหาชนที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเช็กอิน ทำให้บริเวณนั้นวุ่นวายหนัก ชาวบ้านเดือดร้อน ถึงจะมีเจ้าหน้าที่คอยเตือน มีป้ายเตือน แต่ทุกคนก็จะมุ่งมั่นเซลฟี่กับภาพเด็ดวิวภูเขาไฟฟูจิให้ได้ จนสุดท้ายทางการเลยต้องปิดกั้นด้วยป้ายขนาดใหญ่

...

ยกมาเป็นตัวอย่างแค่น้ำจิ้มเพราะมีสถานท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในญี่ปุ่นที่ต้องจำกัดนักท่องเที่ยวจากพฤติกรรมแย่ๆของนักท่องเที่ยว รถโดยสาร รถไฟในญี่ปุ่นแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว ทำให้คนญี่ปุ่นเดินทางลำบากขึ้น เช่นในโตเกียวมีประชากรที่อาศัยอยู่จริงๆประมาณ 2.5 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนกันเข้ามาพักมากกว่า 32 ล้านคน ไม่รวมคนญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาทำงานในแต่ละวัน หรือที่อิตาลี สถานที่ท่องเที่ยวในตำนานบางแห่ง เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านต้องย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นมากกว่าครึ่ง แม้สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจะมีการเก็บค่าเข้าบริการแพงขึ้นแต่ไม่เป็นอุปสรรคกับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด ในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาภายในของแต่ละประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

การแก้ปัญหาเหมือนเส้นผมบังภูเขา เพราะคิดจะเอาแต่ปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ไม่คำนึงถึงคุณภาพของนักท่องเที่ยว นานวัน ปัญหาก็ยิ่งสะสมคนใน กทม.เริ่มรู้สึกอึดอัดกับการใช้รถไฟฟ้าหรือซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าขายปลีกขายส่ง หรือการพักอาศัยในคอนโดจากจำนวนชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีคุณภาพ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม