เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมหยิบข่าวพาดหัวของไทยรัฐฉบับก่อนหน้านั้นมาเขียนซ้ำเพื่อให้กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เข้ามานั่งพูดคุยกันอย่างเปิดอกเปิดใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

เพราะผมเห็นว่าจะมีแต่เสียและเสียไปจนถึงขั้นพังและพังเท่านั้น หากทางฝ่ายรัฐบาลจะเอาแต่ตำหนิติติงแบงก์ชาติ หาว่าเป็นอิสระมากเกินไปดังที่เป็นข่าวคราว

ดังนั้น เมื่อท่านนายกฯให้สัมภาษณ์ว่าจะส่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ คุณ พิชัย ชุณหวชิร ไปเปิดอกคุยกับท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งและเขียนสนับสนุนเอาไว้เต็มคอลัมน์

เท่าที่ผมพอจะจำความได้สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์ปี 1 ปี 2 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ท่านอาจารย์เคยสอนว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าเคยแบ่งออกเป็น 2 สำนักอย่างชัดเจน

สำนักแรกที่เป็นต้นตำรับของนโยบายการคลัง ได้แก่ สำนักของท่าน ลอร์ด เคนส์ หรือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เจ้าตำรับการใช้ตัว G หรือภาครัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเวลาถดถอย หรือตกต่ำ

ลอร์ด เคนส์ บอกว่าการใช้นโยบายการคลังโดยเฉพาะการขาดดุลทางการคลัง ไม่ว่าจะมาจากการเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล หรือการลดภาษี หรือการดำเนินการพร้อมๆกันทั้ง 2 อย่าง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดียิ่ง

เช่นเดียวกับเวลาเศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไปก็อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลก็ใช้นโยบายการคลังแบบเกินดุล คือ เก็บภาษีให้มากขึ้น หรือใช้จ่ายให้น้อยลง ก็จะลดการขยายตัวและลดเงินเฟ้อลงได้

ต่อมาก็เกิด สำนักนโยบายการเงินขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ มิลตัน ฟรีดแมน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นเจ้าสำนัก ซึ่งเห็นตรงข้ามกับท่านลอร์ด เคนส์ ท่านหลังนี้เสนอว่ารัฐบาลควรใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าเช่นใช้อัตราดอกเบี้ยขึ้นลงเป็นหลัก หรือเพิ่มลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปด้วย โดยไม่ต้องใช้มาตรการด้านภาษีมากนัก

...

ศาสตราจารย์ฟรีดแมน ท่านต่อต้านการแทรกแซงภาครัฐ ผ่านนโยบายการคลัง และชอบที่จะใช้นโยบายการเงินที่เป็นเสรีมากกว่า ท่านผู้นี้แหละที่เป็นต้นตำรับของทฤษฎีที่ว่า ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล

มีการเขียนบทความโจมตีกันไปมาอย่างค่อนข้างรุนแรงอยู่ระยะหนึ่ง

ทำให้เกิดนักเศรษฐศาสตร์สายกลาง คือ ให้ใช้ทั้งนโยบายการคลังและการเงินควบคู่กันไป เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ในตัว การเลือกใช้ที่เหมาะสมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งโลกจึงหันมาใช้นโยบายทั้ง 2 ประการนี้ ในการบริหารเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

ผมจำรายละเอียดไม่ได้ว่า จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละนโยบายมีอะไรบ้าง แต่จำบทสรุปได้อย่างดีว่า ต้องใช้คู่กันจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่า ท่านรัฐมนตรีคลังท่านใหม่จะไปเปิดอกคุยกับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำให้ผมนึกถึงข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์สายกลางที่ผมเคยเรียนในสมัยเป็นนักศึกษาท่าพระจันทร์ และจำได้เลาๆ เพราะเวลามันผ่านไปกว่า 60 ปีแล้วอย่างที่ว่า

ด้วยความเชื่อในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่อง “ทางสายกลาง” ผมจึงพลอยเชื่อไปด้วยว่า ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์สายกลางให้ใช้ทั้ง 2 นโยบายคู่กันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และปัจจุบันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วในทุกๆด้าน รวมทั้งด้านการเมืองด้วย เขาก็ใช้คู่กันอยู่แล้ว

ผมจึงหวังว่า ท่าน รมว.คลังจะคุยกับทางแบงก์ชาติได้อย่างเข้าอกเข้าใจ และด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งผมก็หวังเช่นเดียวกันว่า ทางแบงก์ชาติเองก็จะให้ข้อมูลให้ข้อเท็จจริงอย่างเปิดอกว่า เหตุใดท่านจึงไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

การบริหารประเทศชาติจะต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้องครับ...จะเอาแต่ความคิดของตัวเองว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงก็มีแต่พังและพังลูกเดียว

ผมหวังว่า การพบปะพูดคุยระหว่างท่านรัฐมนตรีคลัง และท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ จะมีผลลัพธ์ที่ดีต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางการเงินและการพัฒนาประเทศไทย ทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวต่อไปนะครับ

โอมเพี้ยง!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม