เป็นความเคลื่อนไหวที่สอดรับกันอย่างพอเหมาะพอเจาะหรืออาจจะนัดแนะกันก่อนก็มิอาจทราบได้ของผู้นำหลังฉากของ 2 ประเทศ “ฮุน เซน” แห่งกัมพูชา “ทักษิณ” แห่งประเทศไทย

ข่าวบอกว่า “ฮุน เซน” ได้วิดีโอคอลถึงผู้นำทหารแห่งเมียนมาว่าต้องการจะพูดคุยกับ “อองซาน ซูจี” อดีตผู้นำเมียนมา ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในบ้านพัก

ไล่เลี่ยกันมีข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมาได้พบกับ “ทักษิณ” เพื่อเจรจาขอให้ “ทักษิณ” รับเป็นตัวกลางเพื่อ เจรจากับรัฐบาลเมียนมา

โดย “ทักษิณ” มีเงื่อนไขว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะต้องลงนามยินยอมพร้อมใจที่จะให้ “ทักษิณ” ทำหน้าที่นี้

เนื้อข่าวระบุด้วยว่า “ทักษิณ” ต้องการที่จะทำหน้าที่เพื่อให้ความขัดแย้งได้ยุติลง เนื่องจากไทย-เมียนมามีพื้นที่ติดกันตลอดแนวหากเกิดสู้รบกันอย่างนี้ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

อีกประเด็นสำคัญทุกวันนี้แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ ยังคิดต่อไปด้วยว่าต้องการที่จะให้ผู้ลี้ภัยจากชายแดนไทยสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ สาระของข่าวความเคลื่อนไหวที่ปรากฏออกมา

แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่เท่าที่ประเมินดูแล้วค่อนข้างจะน่าเชื่อถือว่ามีความเป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน

“เพิ่งทราบจากข่าว” เท่านั้น

...

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ทราบว่ามีการเข้าไปช่วยเจรจาหรือไม่ ในส่วนของไทยกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงมีการพูดคุยกันทุกกลุ่มอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของชั้นความลับและไม่ต้องการที่จะเปิดเผยอะไร

“เรายืนยันในหลักการเดิมว่าต้องการให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพในเมียนมา และไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจาแต่ยืนยันจะปฏิบัติตามมติของอาเซียน”

แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ ไม่รู้จริงๆแล้วนายกรัฐมนตรี กับ “ทักษิณ” รู้เห็นด้วยหรือเปล่า

หรือว่า “ทักษิณ” ถือวิสาสะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

แต่ทุกอย่างรัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพูดคุยกับ “ทักษิณ” ว่าควรจะวางบทบาทอย่างไรในกรณีนี้ เพราะต้องดูด้วยว่ารัฐบาลเมียนมาจะคิดอย่างไรด้วย

ประเด็นสำคัญก็คือ การเคลื่อนไหวอย่างนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่?

ว่าไปแล้วแนวคิดนี้ถือว่ามุ่งประโยชน์ให้กับประเทศแต่จะข้ามหน้าข้ามตารัฐบาลไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเหมือนกันเพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่า “ทักษิณ” เป็นใคร และมีอิทธิพลต่อรัฐบาลแค่ไหน

ยิ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ที่ไม่น่าจะลึกซึ้งกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาเท่าใดนัก เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็ไม่มีปัญหา

แต่ถ้ามีปัญหาขึ้นมารัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็มๆ!


“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม