กลายเป็นเรื่องทอลก์ออฟเดอะทาวน์ เมื่อ แพทองธาร ชินวัตรไปพูดบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย ว่า ระเบียบของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทัวร์ลงจัดขนาดนั้น บรรดาองครักษ์ รวมทั้ง นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ต้องออกมาช่วยปกป้องกันอุตลุด เป็นอุทาหรณ์ว่า การจะเป็นผู้นำประเทศได้ต้อง กระดูกแข็ง จริงๆ เพราะการบริหารปกครองประเทศจะต้องอาศัยนโยบายและวิสัยทัศน์ บวกประสบการณ์ด้วย

เอาเถอะที่ นายกฯเศรษฐา อ้างว่า ปัญหาดอกเบี้ยสูง เพิ่มภาระรายจ่ายทำให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นการสะท้อนความเห็นของประชาชน และเข้าใจความเป็นอิสระของ ธปท. โดยพยายามทำงานร่วมกัน ให้เกียรติ ธปท. แต่ขอให้ยึดโยงประชาชนเป็นหลัก และนำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ควรลดลงมา การคุยกับธนาคารเอกชนที่ลดดอกเบี้ยลงมา 25 หรือ 50 สตางค์ ก็มีส่วนช่วยประชาชนได้ และจะประสานงานกับ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะมีการประสานงานเพื่อพูดคุยกับ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ช่องทางใดได้บ้าง

ในส่วนของแกนนำพรรคเพื่อไทยคนอื่นๆที่อ้างว่า แบงก์ชาติสามารถวิจารณ์ได้ แตะต้องได้ ว่ากันไปน้ำขุ่นๆ ตามแบบฉบับของนักการเมือง ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเว้นว่ารัฐบาล ครม. หรือ รมว.คลัง จะบ้าจี้สั่งปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติจริงๆ ผลที่ตามมา ย่อมกระทบกับการเงินการคลังของประเทศแน่นอน

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ไม่ได้ออกมาตอบโต้เรื่องนี้แต่ประการใด ยึดหลักสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แจ้งรายละเอียดบทบาทและหน้าที่ของแบงก์ชาติเอาไว้ชัดเจน

หน้าที่หลักแบงก์ชาติ คือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน ขึ้นอยู่กับปัจจัยรวมถึงการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 กำหนดหน้าที่ของแบงก์ชาติ เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน

...

รักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจึงมีความสำคัญ เพราะหากขาดเสถียรภาพอาจลุกลามเป็นวิกฤติการเงิน ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

กำกับระบบสถาบันการเงิน มุ่งหาสมดุลระหว่างการพัฒนาและการป้องกันความเสี่ยง โดยการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอย่างยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม มีหน้าที่ในการพัฒนาตลาดการเงินและตลาดตราสารหนี้ตามกรอบนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน

มาตรการพิเศษ คือดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินให้ยังคงดำเนิน ต่อไปได้ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของ ธปท.ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พอจะเห็นภาพการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นโยบายรัฐกับหน้าที่หลักของแบงก์ชาติกลายเป็นเส้นขนาน.


หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม