นายกฯ เผย ครม.เห็นชอบ ตรึงน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร-ก๊าซ LPG 423 บาทต่อถัง ขนาด 15 กิโลกรัม พร้อมตรึงค่าไฟฟ้า 15.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มเปราะบาง ยัน ขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
วันที่ 7 พ.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดำเนินการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน ที่กำลังจะสิ้นสุดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยมี 3 มาตรการหลักคือ
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินราคา 33 บาทต่อลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย.– 31 ก.ค. 2567
2. ราคาปลีกของก๊าซ LPG ที่ต้องอยู่ในระดับ 423 บาทต่อถัง ต่อขนาด 15 กิโลกรัม ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567
3. ส่วนค่าไฟฟ้า ให้อยู่ราคา 15.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับกลุ่มเปราะบาง ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค. – ส.ค. 2567 (4 เดือน)
ทั้งนี้ พน. คาดว่าจะใช้งบฯ สำหรับดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท
- ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท
- ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท
- มาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท
ส่วนการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลนั้น ขณะนี้ขอให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ไปก่อน หากไม่พอจึงค่อยมาดูงบกลาง ซึ่งได้ขอให้กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป
...
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเรื่องค่าแรง 400 บาทต่อเดือน ที่หอการค้าจำนวน 76 จังหวัดได้ออกมาต่อต้านในเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า เรื่องค่าแรงตนชัดเจน ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่เป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างที่เคยบอกไปว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท แต่วันนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 340-350 บาท นับว่า 10 ปี ขึ้นมาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่ค่าครองชีพขึ้นไปสูงกว่านั้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว