วิวาทะระหว่างนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายวงออกไปอีก เมื่อ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร กระโดดเข้าร่วมวงด้วย โดยกล่าวว่าคงยากที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะกฎหมายจะให้ ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล ธปท.ไม่เข้าใจ ไม่ร่วมมือไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้

ส่วนนายกรัฐมนตรีพูดถึงความสำเร็จของรัฐบาลที่สามารถเจรจากับ 4 ธนาคารใหญ่ ให้ลดดอกเบี้ยได้ 0.25% ไม่มีใครขอให้ผู้ว่าการ ธปท.ลดดอกเบี้ย เพราะทานยึดความอิสระเป็นหลัก แต่ความอิสระไม่ใช่อิสระจากความทุกข์ยากของประชาชน ถ้าจะให้รัฐบาลทำก็ต้องหาวิธีการอื่น

จับใจความได้ว่า ทั้งสองฝ่ายวิวาทะกันด้วยเรื่องที่รัฐบาลขอให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย ผู้ว่าการ ธปท.เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยต้องสะดุดปัญหา การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หลังการเลือกตั้ง ส่งผลให้ “กองหน้า” หลายฝ่าย มองว่าต้องทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“กองหน้า” หมายถึงฝ่ายรัฐบาล ที่ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามโครงการแจกเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท ผู้ว่าการ ธปท.เล่าว่า ในฐานะที่เป็น “กองหลัง” ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ

การลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. นอกจากควบคุมเงินเฟ้อแล้ว ยังต้องการลดภาระหนี้สินเกินตัวของครัวเรือน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งคณะกรรมการการเงินแจ้งว่าเป็น “ข่าวดี” อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ แปลว่าไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะหนึ่ง

...

แต่เมื่อผู้ว่าการ ธปท.ถูกนักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรครัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง กลายเป็นเรื่องใหญ่ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มี สส.ฝ่ายค้านทั้งพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ออกมารุมวิพากษ์ บางคนยกบทเรียนเรื่องวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” มาเป็นตัวอย่าง

“วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย เศรษฐกิจของประเทศพังทลาย ธนาคารและธุรกิจต่างๆล้มระเนนระนาด ผู้คนนับล้านๆ กลายเป็นผู้ไร้งาน ประเทศไทยมีหนี้ท่วมท้น บางคนมองว่าสาเหตุที่สำคัญของวิกฤติคือผู้บริหาร ธปท.ถูกการเมืองแทรกแซง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม