ลูกพรรคเพื่อไทยระดับขุนพลออกมาปกป้อง “นายน้อย” คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กันเป็นแถว เพื่อเอาใจ “นายใหญ่” หลังจากที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวหา ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ บนเวทีอีเวนต์แถลงผลงาน 10 เดือนของรัฐบาล เนื่องจากผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่นายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเรียกร้อง ซึ่งเป็นการ “แทรกแซง” การทำงานของแบงก์ชาติที่ต้องเป็น “อิสระจากการเมือง” เหมือนประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เคยแนะนำว่า การประสานงานระหว่าง รัฐบาล และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรทำผ่าน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง เพราะคนที่รู้เรื่องนโยบายการเงินคุยกัน ย่อมรู้เรื่องดีกว่าคุยกับคนที่ไม่รู้เรื่องนโยบายการเงิน

คุณเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผู้มีอิทธิพลทางการเงินมากที่สุดในโลก ได้พูดถึง “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในเวทีเสวนาที่ธนาคารกลางสวีเดนจัดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว ได้เน้นหลายครั้งว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องมี “ความเป็นอิสระ” จากอิทธิพลทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ธนาคารกลางกำลังเร่งควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

คุณเจอโรม พาวเวลล์ เป็นประธานธนาคารกลางที่สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก เมื่อเขาและคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.00-0.25% ในต้นปี 2565 ไปสู่ระดับสูงสุดอย่างรวดเร็ว เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

...

ปี 2565 ปีเดียว ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 7 ครั้ง จาก 0.00-0.25% เป็น 4.25-4.50% ในสิ้นปี 2565 และในปี 2566 ก็ขึ้น ดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง จาก 4.25-4.50% ไปสู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงในรอบ 23 ปี และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% มาจนถึง ทุกวันนี้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯก็ยังเติบโตอย่างร้อนแรง จนธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ยลงไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึง “ประสิทธิภาพของผู้นำ” และ “ประสิทธิภาพของรัฐบาล” ในการบริหารประเทศ ไม่เกี่ยวกับ ดอกเบี้ยสูงหรือตํ่า

ในขณะที่ ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2.50% ตํ่ากว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯถึง 2.2 เท่า แต่ รัฐบาลเพื่อไทยกลับบริหารประเทศจนเศรษฐกิจป้อแป้ ธุรกิจเอสเอ็มอีเจ๊งกันระนาว เพราะขายสินค้าไม่ได้ การลดดอกเบี้ย 0.25% 6 เดือน ช่วยฟื้นธุรกิจไม่ได้ ถ้ากำลังซื้อไม่มี รัฐบาลต้องเร่งสร้างงานเพื่อให้คนไทยมีรายได้เพิ่มอย่างมั่นคงยั่งยืน เศรษฐกิจจึงจะฟื้นได้

คุณเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ พูดถึง ความเป็นอิสระของเฟดจากอิทธิพลการเมือง ว่า การใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพด้านราคานั้น จำเป็นต้องใช้การตัดสินใจที่ยากลำบาก ซึ่งอาจไม่เป็นที่พอใจของนักการเมือง เสถียรภาพของราคาถือเป็น “รากฐาน” ของการมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และ จะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในระยะยาว แต่การฟื้นฟูเสถียรภาพของราคาในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จำเป็นต้องใช้มาตรการที่อาจสร้างความไม่พอใจในระยะสั้น

หน้าที่ของ ธนาคารกลาง จึงเป็น “หน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ” อย่างที่ ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวในพิธีรับมอบทองคำจาก คณะศิษย์หลวงตาพระมหาบัว

ผมเห็นด้วยกับ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่กล่าวว่า “รัฐบาลมาแล้วไป ผู้ว่าการมาแล้วก็ไป แต่สถาบันธนาคารแห่งประเทศไทยต้องอยู่ และต้องอยู่อย่างเข้มแข็ง” ที่สำคัญ ประชาชนต้องช่วยกันปกป้อง อย่าให้ “นักการเมือง” ที่ อุดมไปด้วยความโลภ เข้าไปครอบงำควบคุม “นโยบายการเงินของชาติ” ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง ตัวอย่างในอเมริกาใต้ก็มีให้เห็นแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม