"พิมพ์ภัทรา" รมว.อุตสาหกรรม เดินหน้า กวาดล้างขยะอุตสาหกรรม ระดมสมองทุกภาคส่วน ติดดาบสางปัญหาทั้งระบบ ขอบคุณ "พัชรวาท" สั่งการผู้ว่าฯ 76 จังหวัด-ทสจ.ร่วมจับตาโรงงานเสี่ยงทั่วประเทศ

วันที่ 3 พ.ค. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์รั่วไหล และเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็กำชับให้เร่งแก้ปัญหา และเห็นด้วยกับแนวทางที่ได้เสนอให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก

“ภายหลังได้เสนอกับนายกรัฐมนตรี วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบทันที เพื่อให้การบริหารจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โปร่งใสทุกฝ่ายให้การยอมรับ สามารถขยายข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึง รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกากอุตสาหกรรม จากหน่วยราชการ ภาคการอุดมศึกษา ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ”

...

รมว.อุตสาหกรรม ย้ำว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ เสนอแนวทางการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และตรวจสอบ กระบวนการที่เกี่ยวกับการลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

สำหรับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกากตะกอนแคดเมียม ที่ได้มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมานั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วานนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 3 ชุด เร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ผู้แทนจากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

“และสำคัญวันนี้ต้องขอบคุณ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ได้กำชับ สั่งการและมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตราย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในทุกจังหวัดอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว.