สยามเทคโนโพล ชี้ คนไทยสนใจติดแผงโซลาร์เซลล์พุ่ง เชื่อช่วยประหยัดค่าไฟ แต่บางส่วนยังไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัย “นพดล กรรณิกา” ชี้โพลสะท้อนประชาชนแบกรับเรื่องค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น จี้ รัฐบาล-กฟผ.-กฟน.-กฟภ. ทำมาตรการเร่งด่วนช่วยเรื่องการติดตั้ง


วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ นายวงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และ นายธนเสฏฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ประชาชนสนใจโซลาร์เซลล์” ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 บาท ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.98 สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต ในขณะที่ ร้อยละ 26.02 ระบุว่า ไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.77 ระบุว่า สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพราะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 16.09 ระบุว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นพลังงานสะอาด และร้อยละ 7.14 ระบุว่า สนใจเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต ร้อยละ 46.39 ระบุว่า ไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัย รองลงมา ร้อยละ 32.78 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง ร้อยละ 7.90 ระบุว่า ความแข็งแรงของหลังคารับน้ำหนักแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ ร้อยละ 7.37 ระบุว่า พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีไม่เพียงพอ และร้อยละ 5.56 ระบุว่า มีเรื่องการขออนุญาตกับทางการไฟฟ้า

เมื่อสอบถามความคิดเห็นในกลุ่มผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ว่าสนใจติดตั้งแบบใด พบว่า ร้อยละ 41.05 ระบุว่า แผงโมโนคริสตัลไลน์ (ราคาสูง คุณภาพสูง) รองลงมา ร้อยละ 31.65 ระบุว่า แผงโพลีคริสตัลไลน์ (ราคาปานกลาง คุณภาพดี) และร้อยละ 27.30 ระบุว่า แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (ราคาถูก คุณภาพพอใช้)

...

เมื่อสอบถามสนใจระบบของแผงโซลาร์เซลล์ที่ต้องการติดตั้งแบบใด พบว่า ร้อยละ 58.20 ระบุว่า เป็นระบบไฮบริด (ผสมระหว่างระบบ Off Grid และ On Grid คือ มีการใช้ไฟจากการไฟฟ้าและแบตเตอรี่) รองลงมา ร้อยละ 25.71 ระบุว่า ระบบออนกริด (ใช้ไฟกลางวันใช้ไฟร่วมกับการไฟฟ้า) และร้อยละ 16.09 ระบุว่า ระบบออฟกริด (ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า มีแบตเตอรี่สำรองไฟเวลากลางคืน ใช้ในสวน ไร่นา ดอยสูง)

ขณะที่ ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า จากผลโพลของสยามเทคโนโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเดือดร้อนค่าครองชีพและเหตุผลจำเป็นของประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ประชาชนสนใจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ควรมีโปรโมชันพิเศษและมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับครัวเรือนของประชาชนผู้สนใจโดยเน้นไปที่ความยั่งยืนของ 3 เร่งของกลไกสำคัญ ได้แก่ สภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Society) และธรรมาภิบาล (Government) ที่เป็นองค์ประกอบของ ESG เร่งขับเคลื่อนผลกระทบที่ดีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้มีส่วนได้เสียที่เปราะบางกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่ม นั่นคือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งภาคครัวเรือนและการเกษตร