"อนุทิน" เปิดวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 รับ 10 ข้อเรียกร้องผู้ใช้แรงงาน ยันรัฐบาลส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 เท่ากันทั่วประเทศเป็นของขวัญ 1 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายพันคน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้า เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ แด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ ลานคนเมือง

จากนั้นมีการตั้งริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ ริ้วขบวนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน และเคลื่อนริ้วขบวนออกจากบริเวณแยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก และเคลื่อนมายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้มาเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติในนามของรัฐบาล เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของวันแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับพี่น้องแรงงานทุกคน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา ซึ่งท่านคงเห็นเหมือนที่ผมเห็นว่า พวกเรากำลังอยู่ในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงได้มีความพยายามดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ผ่านการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ จัดหลักสูตร Up Skill เพื่อแรงงานไทยในยุคดิจิทัล โครงการฟรี Safety Service เพื่อแรงงานปลอดภัย การเร่งออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือการส่งเสริมการพัฒนาระบบรักษาพยาบาล SSO Healthy เพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ในสถานที่ปฏิบัติงาน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง

...

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่อ "อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ" หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาที่ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 ที่เป็นเรื่องการปรึกษาหารือไตรภาคีนั้น จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคมนี้ และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน ณ นครเจนีวา ต่อไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติของเราในปีนี้ และแน่นอน ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ท่านได้นำมาเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับฟัง และให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป

"ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ผมและรัฐบาลขอให้แรงงานไทยทุกคน มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้า และผมขอสนับสนุนทุกท่าน ในการช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนวทางการพัฒนาร่วมกันต่อไป เพราะเราคือทีมเดียวกัน ในพันธกิจเพื่อยกระดับคุณภาพงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย เพื่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชน" นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ วันนี้จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้องแรงงานทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศในทุกภาคส่วน ให้เติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างรวม 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เห็นชอบให้ นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567

โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการจัดงานฯ ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญ และขอบคุณพี่น้องแรงงานทุกท่าน สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากพี่น้องแรงงาน โดยนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนางานในการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสานแจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักว่าทุกข้อเสนอแนะ จะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงาน และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป ซึ่งในการจัดงาน วันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้จัดทำข้อเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ นำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และความต้องการของพี่น้องแรงงาน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

"กระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา โดยดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานทุกคน ผ่านการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน อาทิ เร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้เราได้ติดต่อกับผู้ประกอบการกับเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีส่วนสำคัญในทุกระดับ เพื่อหารือว่าจะให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร พัฒนาทักษะฝีมือด้านใดบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร ซึ่งในระยะ 5-6 เดือนนี้ เราต้องศึกษาว่าสาขาใด เราต้องช่วยเขาอย่างไรบ้าง หากธุรกิจใดมีปัญหาก็ขอให้แจ้งมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อจะหารือมาตรการการช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี และฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 นั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน 2567 ณ นครเจนีวา ต่อไป" นายพิพัฒน์ กล่าว