วันแรงงานคึกคัก “อนุทิน-พิพัฒน์” ประกาศลั่นเวทีลานคนเมือง 1 ต.ค. ปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ด้าน 16 สภาองค์กรลูกจ้างยื่น 10 ข้อ ให้รัฐปรับสวัสดิการ แก้กฎหมายให้เป็นธรรม ตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ธนาคารแรงงาน ด้าน สสรท.-สรส. จัดกิจกรรมที่ประตู 5 ทำเนียบฯ ทวงข้อเรียกร้องเดิม 13 ข้อ ต้องปรับเพิ่มค่าจ้าง 492 บาท
วันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก 16 สภาองค์กรลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยและกลุ่มแรงงานนอกระบบร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมในวันแรงงานสากล หรือวันเมย์เดย์ (May day) เคลื่อนริ้วขบวนไปยังเวทีใหญ่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. มีกลุ่ม สส.ก้าวไกล นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมรณรงค์ขยายสิทธิลาคลอด 180 วัน และ พ.ร.บ.แรงงาน ฉบับก้าวไกล โดยนายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ที่เป็นประธานเปิดงาน มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้ใช้แรงงานร่วมงานจำนวนมาก
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามดำเนินนโยบายสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ไปดำเนินการปรับค่าจ้าง 400 บาทให้ได้ ต้องให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อเป็นบัญชานายกฯ ก็ต้องปฏิบัติและขอแสดงความยินดีล่วงหน้า ขอเวลาถึงวันที่ 1 ต.ค.จะดำเนินการในเรื่องปรับค่าจ้างให้ราบรื่นที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ จัดหลักสูตร Upskill เพื่อแรงงานในยุคดิจิทัล โครงการฟรี Safety Service เพื่อแรงงานปลอดภัย การเร่งออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้าน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
...
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาที่ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 ที่เป็นเรื่องการปรึกษาหารือไตรภาคีนั้น จะมีการเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ค. และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิ.ย. ณ นครเจนีวา ถือเป็นข่าวดีในปีนี้ ส่วนข้อเรียกร้องต่างๆ ที่นำเสนอในวันนี้รัฐบาลจะรับฟังและให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป
ด้านนายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับค่าจ้าง 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.จะเป็นการปรับในภาพรวมทุกอาชีพทั่วประเทศ อาชีพไหนที่ไปต่อไม่ไหวรัฐก็ต้องเข้าไปดูแล ในแต่ละจังหวัดหากไม่ไหวก็แจ้งมาจะให้ช่วยด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะต้องช่วยให้ไปต่อได้ ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเท่าเทียมกันทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งครั้งที่ผ่านมาได้ปรับแค่ 2 บาท ครั้งนี้จะได้อัตราเดียวกันตามนโยบายรัฐบาล หากจะก้าวไปถึง 600 บาท ในปี 2570 ก็ต้องให้ได้ก้าวแรกที่ 400 บาทเท่ากันก่อน ตนเองกับปลัดกระทรวงก็กังวลที่จะประกาศค่าจ้างใหม่แต่เห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 6 เดือน วันนี้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นและเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ได้มีการประกาศปรับ 400 บาท นำร่องในอาชีพพนักงานโรงแรมใน 10 จังหวัดไปก่อนแล้ว
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเสนอปรับขึ้นค่าจ้างจะเสนออัตราเดียวกัน 400 บาท ทุกอาชีพ แต่ในการประชุมบอร์ดค่าจ้างอาจจะมีปัญหาในบางอาชีพ สุดท้ายแล้วจะได้ 400 บาทหรือไม่ได้ก็ต้องไปว่ากันในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกที ขณะนี้ได้ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปศึกษารายละเอียดในแต่ละอาชีพจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยในวันที่ 14 พ.ค. ได้เชิญผู้แทนนายจ้าง สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และกลุ่มเอสเอ็มอี ก่อสร้าง มาหารือถึงการจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.
สำหรับข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ 10 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมที่เคยยื่นไว้แล้ว อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท ให้จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน และให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง
ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล เคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่ยื่นไปหลายปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้าจำนวน 13 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล อาทิ ขอให้รัฐปรับค่าจ้าง 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ ปรับโครงการการกำหนดราคาใหม่ ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประกันสังคม