ทอท. กลับลำ พร้อมปิดฉากสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หลังลังเลรับพื้นที่ ล่าสุด ฟันธงข้อดีเลิกดีกว่าอยู่ ขานรับนโยบายนายกฯ เพิ่มศักยภาพสนามบิน ด้านกองทัพอากาศประเมินค่าชดเชยอาจสูงถึง 3,000 ล้าน โยนรัฐบาลพิจารณาแนวทาง
วันที่ 30 เมษายน 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม เปิดเผยว่าวันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากกองทัพอากาศ สำนักงานการบินพลเรือน และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) เข้าชี้แจงว่า มีความพร้อมในการรับพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) ที่อยู่กลางสนามบินดอนเมือง กรณีต้องยกเลิกหรือไม่ หลังจากมีข่าวว่าการท่าอากาศยาน ระบุ หากรับไปก็จะไม่คุ้มค่าต่อการพัฒนาสนามบินสนามบิน
ทั้งนี้ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า การรับคืนจากกองทัพอากาศสามารถทำได้โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยซึ่งแม้ที่ที่ผ่านมาสถาบันการบินพลเรือน และ องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) จะรับรองความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ตาม แต่ที่ผ่านมาจากรายงานสถิติของท่าอากาศยานดอนเมือง ก็พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีรถกอล์ฟฝ่าฝืนสัญญาณไฟนักกอล์ฟ ไม่ระมัดระวังในการเดินตัดจุดผ่านของรันเวย์สนามบิน มียานพาหนะฝ่าฝืนสัญญาณไฟแจ้งเตือน นักกอล์ฟไม่ทราบวิธีการปฏิบัติในการขับรถกอล์ฟข้ามทางขับ และหอบังคับการบินมองไม่เห็นทางขับช่วงดังกล่าวเนื่องจากมีต้นไม้ของสนามกอล์ฟบดบัง แม้จะอยู่ในมาตรฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่หากไม่มีสนามกอล์ฟก็จะมีความปลอดภัยสูงมากกว่า
ส่วนคำถามที่ว่าหากรับคืนจากกองทัพอากาศแล้ว การท่าอากาศยาน จะนำไปใช้ประโยชน์อะไร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ชี้แจงว่า จะนำมาพัฒนาเป็นทางเชื่อมต่อของเครื่องบินเข้าสู่รันเวย์ที่ 1 และรันเวย์ที่ 2 ซึ่งก็จะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่แผนการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการบินในการเพิ่มเที่ยวบินหรือจำนวนผู้โดยสารในอนาคตอันใกล้นี้ได้
...
ขณะที่ผู้แทนจากกองทัพอากาศ พลอากาศตรีธนชัย อากาศวรรธนะ เจ้ากรมสวัสดิการทหารอากาศ พร้อมคณะ ชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2563 สนามกอล์ฟแห่งนี้ได้ถูกตรวจสอบมาโดยตลอดในเรื่องความปลอดภัย ยังยืนยันว่ามีความปลอดภัยทั้งในด้านมาตรฐานการบินและการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สนามบิน แต่หากรัฐบาลพิจารณาเห็นเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องในระดับนโยบาย ส่วนการชดเชย ทางกองทัพอากาศได้ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 90-100 ล้านบาทต่อปี หากคำนวณอยู่ที่ 30 ปี การท่าอากาศยานอาจต้องจ่ายชดเชยเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาลจะพิจารณาต่อไป
ทางด้าน นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมาธิการได้ข้อยุติ แต่จะขอความเห็นเพิ่มเติมไปยังวิทยุการบินในเรื่องดังกล่าว เพื่อประกอบรายงานสรุปนำเสนอต่อรัฐสภาและรัฐบาลต่อไป.