ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรมที่กระบี่ เน้นย้ำพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ชี้ การทำให้ดีขึ้นจะยิ่งสร้างรายได้ พร้อมเผย 2 การประกวดสุดยอดผ้า
วันที่ 27 เมษายน 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 1 จังหวัดกระบี่ ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่กิจกรรม Coaching ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายสิริวชิราภรณ์ ถูกกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยตามลำดับพยัญชนะ ที่จะมีอายุครบ 152 ปีการสถาปนาชื่อจังหวัดโดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีนี้ และประการที่เป็นมงคลยิ่ง คือ จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างจังหวัด ในการทรงประกอบพิธีเปิดศาลากลางจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกในรัชกาล ภายหลังเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และยังเป็นจังหวัดที่มีวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) เป็นวัดเนื่องในรัชกาลอีกด้วย
ทั้งนี้ งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย ตลอดจนถึงอาหาร ประเพณี วัฒนธรรม เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่ง UNESCO ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าต่อมวลมนุษยชาติอย่างหาที่สุดไม่ได้ และได้มีการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในทุกปี แน่นอนว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้คือภูมิปัญญา แต่สิ่งที่จับต้องได้คือชิ้นงานที่เราสามารถแปลงเป็นรูปธรรมให้หลากหลาย ดังพระราชดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส
...
“นับตั้งแต่พระองค์พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าทั้งประเทศแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท โดยข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ เป็นผู้นำที่มีความสำคัญที่สุด ที่ต้องมี passion มีความเชื่อมั่น งานจึงจะสนุกสนานและยั่งยืน”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งผ้าไทยมีนัยสำคัญว่า เป็นผ้าที่คนไทยรับสืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ และสามารถสร้างสรรค์ต่อยอดทำขึ้นมาเองได้ ทั้งผ้าบาติก ผ้ายกดอก ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าปัก กระเป๋าตะกร้าย่านลิเภา ใยกัญชง งานจักสานต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการ พัฒนากร ต้องขยันลงในพื้นที่ไปพบปะพูดคุย เอาใจใส่ ผลักดันช่วยเหลือสนับสนุนส่งเสริมให้พี่น้องผู้ประกอบการมีความขยันฝึกปรือฝีมือในการผลิตชิ้นงาน เพื่อทำให้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มพูน ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยอีกว่า การประกวดจะเป็นเครื่องกระตุ้นเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีขึ้น ด้วยการทุ่มเท ใส่ใจ ออกแบบชิ้นงานให้ประณีตงดงาม พิถีพิถันจนเป็นนิสัย จะทำให้เราได้มีชิ้นงานที่เป็นเลิศ แล้วฝีมือก็จะดีขึ้นๆ จนทำให้ชิ้นงานเป็นที่ต้องการของตลาด ของผู้บริโภค อย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มีการประกวด 2 รายการ คือ
1. การประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร่วมกับทุกจังหวัด โดยสามารถส่งผ้าเข้าประกวดภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งผืนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของแต่ละจังหวัด จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567
2. การประกวดผ้าลายสิริวชิราภรณ์และงานหัตถกรรม รับสมัครระหว่าง 1 มิถุนายน-15 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ 878 อำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ
“ขอให้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า กิจการงานใดๆ ถ้าเราเข้าใจเป้าหมาย เราก็จะสามารถลงมือทำสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ด้วยความตั้งใจ และท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้ความตั้งใจจริงสำเร็จได้ มันจำเป็นต้องเปิดรับสิ่งดีๆ จากคนที่มีจิตใจดี เสียสละมาพูดคุยกับพวกเรา เพราะสิ่งดีๆ ที่การอบรมนี้กำหนดมิใช่เพียงแค่มาอธิบายเรื่องลวดลาย เรื่องสี ผ่านหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK และพระราชวินิจฉัยเรื่องลวดลายเก่า ลายใหม่ และต้องเตือนตัวเองว่า ได้หน้าอย่าลืมหลัง เพราะลวดลายเก่ายังเป็นที่นิยม ส่วนลายใหม่ก็ต้องอาศัยผู้นำของฝ่ายบ้านเมืองอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดต้องช่วยโปรโมตด้วยการสวมใส่เป็นตัวอย่าง รวมถึงช่วยกันอุดหนุน สวมใส่ เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มพูน และถ่ายทอดสิ่งที่ดี ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบากในการผลิตชิ้นงาน อันจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
สำหรับงานวันนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางชณิสา หาญภักดีปฏิมา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกระบี่ นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE
รวมไปถึง อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และผู้เข้าร่วมอบรม