ประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง นิกร จำนง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แถลงถึงความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้ ได้ข้อสรุป นิยามแรงจูงใจทางการเมือง ให้หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง

มีการรวบรวมเอาฐานความผิดจากที่ สำนักงานศาลยุติธรรม รวบรวมเอาไว้ จำนวน 25 ฐานความผิด ใช้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ประกอบด้วยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ เสื้อเหลือง ในปี 2548-2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. หรือ เสื้อแดง เมื่อปี 2550-2553 การชุมนุมของ กปปส. เมื่อปี 2556-2557 และ การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี 2563 ถึงปัจจุบัน

ส่วน ความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.110 และ 112 อนุกรรมการ ไม่มีการชี้ชัดว่า จะอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ที่ผ่านมากรรมาธิการหลายคณะก็ไม่ได้มีการพิจารณาถึงเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวและเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ

ส่วนความผิดอื่น อาทิ ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 มีอยู่ 73,009 คดี ในช่วงโควิดระบาด หรือ คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การจราจรทางบก ปี 2522 มีอยู่ 2.6 ล้านคดี ควรสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา โดยให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดในการพิจารณายุติคดีหรือถอนฟ้องได้

ที่เป็นคำถามยอดฮิตคือ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ อนุกรรมาธิการก็ไม่ได้มีการพิจารณา อ้างว่าไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้

...

สรุปก็คือต้องเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2548 เป็นต้นมาและอยู่ใน 25 ฐานความผิด ยกเว้น ความผิดตาม ม.110 และ ม.112 ที่ไม่มีการพิจารณา

ความยากลำบากก็คือ การวินิจฉัยแรงจูงใจทางการเมือง ยกตัวอย่างมีเยาวชนไปชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ที่ไม่ได้เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมืองโดยตรง แต่อยู่ในช่วงตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินส่งไปให้ทางบ้านใช้ คิดว่าการออกไปไล่รัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีงานทำเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับสีส้ม สีแดงหรือสีเหลืองใดๆทั้งสิ้น

กับการที่ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกไปไล่รัฐบาล ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบเพื่อล้มล้างอำนาจการปกครอง โค่นล้มฝ่ายตรงกันข้าม แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ กับ นักเคลื่อนไหว ที่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ การเมืองมีการพัฒนาจากการเมืองน้ำเน่า มีความเท่าเทียมทางสังคม

อะไรคือแรงจูงใจทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจที่ไม่ใช่การลบล้างความผิดตัวเอง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม