นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน ก้าวไกล ชู เมกะโปรเจกต์ "สวัสดิการเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า" ชี้ คุ้มค่า สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เทียบ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เคยหาเสียงไว้ ถ้าพยายามทำเหมือนกัน ทำได้ทันที

วันที่ 20 เม.ย. 2567 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ พลวัตสังคมการเมือง เส้นทางการขับเคลื่อนนโยบายเด็กเล็กถ้วนหน้า (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ระบุว่า ขณะนี้เรามีงบประมาณที่ตกหล่นตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ในงบประมาณประจำปี 67 มีการจัดสรรงบประมาณ 17,000 ล้านบาท ให้เด็ก 2.5 ล้านคน แต่เรามีเด็กที่เข้าเกณฑ์รับเงิน 600 บาทต่อเดือน มากกว่า 4 ล้านคน หมายความว่า ตั้งแต่เริ่มอนุมัติงบประมาณ มีเด็กแรกเกิดตกหล่นอย่างแน่นอนถึง 1.5 ล้านคน

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า คำถามคือแบบนี้เท่ากับว่า การได้รับสวัสดิการแรกเกิดจากรัฐขึ้นกับโชคชะตาใช่หรือไม่ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตก็เหมือนกัน เงินฌาปนกิจตกหล่นจำนวนมากชนิดที่เรียกว่า ขอให้ฟื้นมาก่อน อย่าเพิ่งตายเพราะไม่มีเงินให้ทั้งที่เข้าเกณฑ์ครบถ้วน

"เรื่องราวเหล่านี้จะไปถูกพูดถึงอีกทีก็ตอนเลือกตั้ง พออยากได้คะแนนเสียงก็จะมีนโยบายอุดหนุนเงินแรกเกิดเท่านั้นเท่านี้ ย้อนกลับไปดูทุกพรรคพูดเหมือนกันหมดว่าต้องให้ถ้วนหน้า มองเห็นความสำคัญของการจัดสรรงบไปลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ แต่พอหลังเลือกตั้ง มีอำนาจในการบริหาร มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณและมีอำนาจเคาะนโยบายที่สำคัญ กลับไม่ทำให้เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า" นายนายณัฐชา กล่าว

...

นายณัฐชา ยังได้กล่าวว่า เปรียบเทียบกับโครงการดิจิทัลวอลเลต ที่ใช้งบฯ มากถึง 500,000 ล้านบาท รัฐบาลบอกทำได้ หาเงินได้ แต่ทำไมพอเป็นโครงการที่เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชนไม่ว่าเกิดหรือตายจึงไม่พยายามทำให้เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน

"สวัสดิการประชาชนใช้เงินน้อยกว่า 500,000 ล้านบาทแน่ๆ และเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างให้ความสำคัญก่อนเลือกตั้งแน่ๆ ทั้งยังเป็นเรื่องที่รับปากไว้กับประชาชนเช่นกัน ถ้าใช้ตรรกะและความพยายามแบบเดียวกับดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อว่าถ้าจะทำก็ทำได้เลย ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าท่านจะไม่ทำ แต่อยากเตือนความจำว่า ก่อนเลือกตั้งท่านเคยรับปากอะไรไว้กับประชาชน ทำไมตอนนี้จึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้าตามที่หาเสียงไว้"

ทั้งนี้ นายณัฐชา ยังได้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในเด็ก ว่า หากเทียบกับความมั่นคงทางยุทโธปกรณ์เราลงทุนมากกว่า 200,000 ล้านบาท แต่ในการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์กลับไม่ถึงแสนล้านบาท ทั้งที่มีความสำคัญที่สุด เพราะหมายถึงพัฒนาการของเด็กที่จะเติบโตขึ้น ถ้าเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพไปพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ซึ่งหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ที่จะตามมา

"เปลี่ยนกระสุนเป็นนมกล่อง เปลี่ยนปืนเป็นของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการ ทำเมกะโปรเจกต์เพื่อเด็กแรกเกิดใช้งบไม่ถึง 30,000 ล้านบาท จะทำให้เรามีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศที่ถาวรและยั่งยืน ไม่ใช่เด็กเกิดมาแล้วยังต้องไปลุ้นชิงโชคว่า จะได้งบสนับสนุนเด็กแรกเกิดหรือไม่ มันสวนทางกับนโยบายของรัฐที่บอกว่า อยากให้มีเด็กเกิดใหม่เยอะๆ แต่ขอถามหน่อยว่าให้สวัสดิการแบบนี้เด็กที่ไหนจะอยากมาเกิดในยุคของท่าน" ณัฐชา ระบุ