ศปถ. สรุปสถิติ 7 วันอันตรายสงกรานต์ 15 เม.ย. 67 เกิดอุบัติเหตุ 301 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 39 ศพ ขณะภาพรวม 5 วัน อุบัติเหตุรวม 1,564 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตขยับขึ้นเป็น 206 ศพ “หมอชลน่าน” กำชับดูแลจราจรคนเดินทางกลับ ห่วง ความอ่อนล้าขับรถทางไกล ย้ำ ง่วงให้จอดพัก 

วันที่ 16 เมษายน 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” 

สถิติอุบัติเหตุทางถนน วันที่ 15 เมษายน 2567 (7 วันอันตราย วันที่ 5)

  • เกิดอุบัติเหตุ 301 ครั้ง
  • ผู้บาดเจ็บ 314 คน
  • ผู้เสียชีวิต 39 ศพ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.19
  • ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.92
  • ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 15.28 

ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 78.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.89 ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 - 17.00 น. ร้อยละ 9.63 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 18.13 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,386 คน 

...

  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (4 ศพ) 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของ 7 วันอันตราย (11-15 เมษายน 2567) 

  • เกิดอุบัติเหตุรวม 1,564 ครั้ง
  • ผู้บาดเจ็บรวม 1,593 คน
  • ผู้เสียชีวิต รวม 206 ราย
  • จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด
  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (61 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (60 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย (13 ศพ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน รวมไปถึงให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนอำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลและรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว

ทางด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวเสริมว่า ในวันนี้เส้นทางสายหลักและถนนที่เชื่อมต่อจากภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพมหานครมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประกอบกับสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ผ่านมาในช่วงวันดังกล่าว มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ศปถ. จึงประสานจังหวัดและอำเภอบูรณาการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เน้นการทำงานเชิงป้องกัน โดยเฉพาะการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน เริ่มตั้งแต่ด่านชุมชนไปจนถึงด่านหลัก พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน รวมถึงดูแลความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมในการขับรถอย่างปลอดภัย 

ขณะที่ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า วันนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มีการเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนดูแลสภาพร่างกายของตนเองให้มีความพร้อมในการขับขี่ และตรวจสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกคนเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย 

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ทำให้สภาพถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ1784 (Line ID @1784DDPM) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.