ปลัดมหาดไทย สั่งเข้มทุกจังหวัดจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ ควบคู่มาตรการรักษาความปลอดภัย-ความสงบเรียบร้อยในการจัดงานรื่นเริง หวังประชาชนร่วมสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่า

วันที่ 7 เมษายน 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงมาตรการจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการจัดงานรื่นเริงและงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการไปยังทุกจังหวัด พร้อมขอความร่วมมือกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด เพื่อให้การจัดงานรื่นเริง หรืองานเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในทุกพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 12 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ทำให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2567 รวม 5 วัน กระทรวงมหาดไทยนำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้ส่งความห่วงใยไปยังประชาชนทุกคน โดยเฉพาะการจัดงานรื่นเริง หรืองานเทศกาลสงกรานต์ในทุกพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับความปลอดภัย และเพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะ ให้สามารถสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสั่งการดังนี้ 

1. ให้เจ้าหน้าที่จัดประชุมชี้แจงซักซ้อมแก่ผู้ประกอบการ ผู้จัดกิจกรรม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านความปลอดภัย ด้านระเบียบกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ห้ามเสพสุราหรือของเมาอย่างอื่นจนเป็นเหตุให้ตนเมา ประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะหรือสาธารณสถาน ห้ามกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปลือย หรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น เป็นต้น 

...

2. กรณีที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มงวด กวดขัน และตรวจตราผู้จัดกิจกรรมให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เช่น ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ ห้ามขายแอลกอฮอล์เกินกว่ากำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ เป็นต้น รวมถึงต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ หรือ บริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2555 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2558 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้อง หากมีการฝ่าฝืนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

3. การจัดงานรื่นเริง หรืองานเทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะจัดในที่เคหสถาน ที่สาธารณสถาน หรือ ในสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายสถานบริการ ที่เข้าข่ายต้องใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 โดยในเขตเทศบาล มีนายกเทศมนตรีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกเขตเทศบาลในพื้นที่อำเภอมีนายอำเภอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และในเขตกรุงเทพมหานคร มีผู้อำนวยการเขตเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติในการขออนุญาตให้ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจะเป็นไปตามคู่มือสำหรับประชาชนที่ผู้มีอำนาจอนุญาตแต่ละแห่งจัดทำขึ้น

4. กรณีที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีการใช้น้ำ หรือฟองโฟม ขอความร่วมมือให้ผู้จัดกิจกรรมใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่วและชุดสายวงที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตลอดจนการตรวจสอบระบบไฟฟ้าและแบ่งพื้นที่ติดตั้งสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ให้อยู่ในพื้นที่เปียกน้ำ หรือชื้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน และให้ผู้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทราบถึงข้อปฏิบัติเป็นระยะๆ ในระหว่างการจัดงาน เช่น แนะนำในการทดสอบตัวเองก่อนว่ามีการแพ้ฟองโฟมที่ใช้งานหรือไม่ รวมถึงให้ระมัดระวังอย่าสัมผัสกับฟองโฟมต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณเยื่ออ่อน เช่น ดวงตา ปาก จมูก เป็นต้น โดยผู้จัดกิจกรรมต้องจัดหาบริเวณล้างฟองโฟมด้วยน้ำสะอาดเพื่อให้บริการอย่างเพียงพอ 

5. ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดกิจกรรม และผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้แต่งกายมิดชิด ไม่โป๊เปลือย และกำกับควบคุมมิให้มีการแสดงที่เป็นไปในทางลามกอนาจาร หากพบว่ามีการแสดงที่เป็นไปในทางลามกอนาจารให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง

6. ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้สัมพันธ์กับประเภทกิจการการใช้อาคาร หรือขนาดพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรม ไม่ให้แออัดหนาแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันมิให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตจากการเบียดของคนจำนวนมาก (Crowd crush)

“การควบคุมกำกับดูแลสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนนโยบาย การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ของรัฐบาล ที่ผ่านมาแม้จะได้ดำเนินนโยบายกวดขันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่ายังมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนร้องเรียนมายังกระทรวงมหาดไทย จึงสั่งการให้ทุกจังหวัดควบคุมกำกับดูแลสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบายการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเข้มงวด และรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยทราบ รวมทั้งได้แจ้งให้จังหวัดและอำเภอจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครอง พร้อมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง”

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดกำชับทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการและผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการทุกแห่งในพื้นที่ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดตรวจตราสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ เน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ยาเสพติด การค้ามนุษย์ เวลาเปิด-ปิด การปล่อยปละละเลย หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที และรายงานผลให้กระทรวงมหาดไทยทราบ โดยหากพบเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยและทางปกครองอย่างจริงจัง

“กรณีจังหวัด/อำเภอได้รับแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนปัญหาสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการประกอบกิจการฝ่าฝืนกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มอบหมายชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัด หรือ ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว นอกจากนี้ ให้ประชาสัมพันธ์การดำเนินนโยบาย "การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล" ของกระทรวงมหาดไทย และช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือ ร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนผ่านศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เช่น สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อสังคมออนไลน์ของจังหวัด/อำเภอ และสื่อมวลชนอื่น ๆ ในพื้นที่”

นายสุทธิพงษ์ ระบุอีกว่า สงกรานต์นับเป็นประเพณีหนึ่งที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความรัก ความผูกพันในครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และมีบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน และเป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้กลับมาสำรวจตนเองว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เราได้กระทำการใดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง หรือสังคม รวมถึงสำรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าหรือความสุข คุณค่าต่อครอบครัว 

เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ บุพการี หรือผู้อาวุโสภายในครอบครัว และวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครอบครัว เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่กลับบ้านหรือภูมิลำเนาไปหาครอบครัว และอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที รดน้ำขอพรผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในครอบครัวร่วมกัน สำหรับพุทธศาสนิกชน จะมีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล 

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงขอส่งความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนให้มีความสุข และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” หากต้องการความช่วยเหลือขอให้แจ้งเหตุมาที่สายด่วนนิรภัย 1784 หรือ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยควบคู่กับการสร้างความสุขและรอยยิ้มของคนไทยตลอดทุกเทศกาล และตลอดไป.