สะบัดสำนวนใส่กันแบบเต็มที่ในเวทีซักฟอก ซดเลือดสาดระหว่างมวยรุ่นใหญ่กับนายกฯ เป็นมุมสะท้อนของ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล หลังฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป ตรวจการบ้านรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่เดือนที่ 7

ที่ชี้ให้เห็นถึงความดุเด็ดเผ็ดมันในบางคู่ แต่มันเป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ เปรียบเหมือนนักมวยขึ้นเวทีชกโชว์ ไม่มีคะแนน ความสนุกหายไปครึ่งหนึ่ง แม้ได้เห็นดาวดวงใหม่ในอนาคตคนหนึ่งจาก สส.พรรคก้าวไกล

ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร

เป้านิ่งที่ถูกโจมตีอย่างผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล หากไปถามนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าแคร์หรือไม่ บอกได้เลยว่าไม่มีความจำเป็นต้องแคร์

เพราะฝ่ายตรงข้ามถึงอย่างไรย่อมมองในมุมลบในทุกมิติ ฝ่ายที่อยู่ฝั่งเดียวกันย่อม ยอมรับได้ทุกมิติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายทักษิณรู้ดีว่าคะแนนในกลุ่มที่ไม่ชอบหายไปแน่

...

แต่แฟนคลับขาประจำไม่ทิ้งนายทักษิณแน่

เป็นกลยุทธ์ดึงแฟนคลับเก่ากลับมาอีกครั้ง

“หวังให้กลุ่มเสื้อแดงกระชุ่มกระชวย พยายามดึงคะแนนเก่ากลับมา เพราะตอนเลือกตั้งปี 66 คะแนนกลุ่มอายุ 46-60 ปีขึ้นไปสูสี

กระจัดกระจายไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคนั้นพรรคนี้บ้าง โดยเฉพาะไปอยู่กับพรรคก้าวไกล ทำให้ชนะแบบไม่ขาด คะแนนกลุ่มนี้นายทักษิณยังเอาคืนได้

สังเกตได้จากจังหวะที่คนแวดล้อมนายทักษิณ เวลาไปไหนมาไหน แทบไม่มีคนรุ่นใหม่ เจ้าตัวรู้ดีว่าไม่สามารถขายให้คนกลุ่มนี้ได้

และจากผลโพลที่แตกข้อมูลค้นพบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และพรรคเพื่อไทย ชนะพรรคก้าวไกลและคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แค่กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป”

ยุทธศาสตร์เดิน 2 ขา-กลไกอำนาจรัฐ

พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเดิน 2 ขา และสนับสนุนโดยกลไกอำนาจรัฐ

ขาที่ 1 นายทักษิณเดินหน้าเอาคะแนนเก่าคืนกลับมาให้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 46 ปีขึ้นไป โดยไม่กังวลว่าฝ่ายตรงข้ามจะตั้งคำถามหรือไม่ โดยเจ้าตัวเชื่อมั่นถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจดี ผลผลิตทางการเกษตรราคาดี คนจะลืมไปว่าป่วยทิพย์หรือป่วยจริง

ขณะที่ผมได้ค้นพบบางอย่าง ที่เป็นจุดเริ่มต้นอธิบายฉายภาพให้เห็น ผลจากการแกะข้อมูลโพลภาคใต้ ถึงผลสรุปคะแนนนิยมทางการเมืองรอบล่าสุด

ปรากฏว่า “ประชาธิปัตย์” แพ้ “ก้าวไกล” แถมแพ้ให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ที่สำคัญสูสีกับ “เพื่อไทย” คะแนน “เพื่อไทย” ตีตื้นขึ้นมา

ตอนแรกรู้สึกอึ้งกับคะแนน “เพื่อไทย” มาจากไหน หรือมาจากราคายางพารา เมื่อไปพูดคุยกับนักศึกษาที่อยู่ภาคใต้ 3-4 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ

แพทองธาร ชินวัตร
แพทองธาร ชินวัตร

พูดทำนองเดียวกัน “ชาวบ้านขอให้ราคายางดี กินดีอยู่ดี ไม่สนคำว่าพรรคไหน ทำให้เขามีเงิน มีฐานะดีขึ้นก็เลือกพรรคนั้น” คะแนนพรรคเพื่อไทยภาคใต้ถึงเด้งขึ้น แต่เป็นคะแนนชั่วคราว ตามกลไกราคายางพารา

ขาที่ 2 อาศัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กลับไปเก็บคะแนนคนรุ่นใหม่ เดิมมีคะแนนกลุ่มเป้าหมายนี้ในช่วงกระโดดลงมาใหม่ๆ พอวันเวลาผ่านไปโดนนายพิธาขโมยไปเกือบหมด

น.ส.แพทองธารอยากได้คะแนนต้องแสดงความเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ให้ได้ โดยกำหนดกลยุทธ์ให้กรรมการบริหารพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่แสดงบทบาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีบทบาท

เชื่อหลังปิดสมัยประชุมสภา หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ คงมีบทบาทมากขึ้น หากไม่สร้างบทบาทรับรองไม่มีทางได้คะแนน

“ปิดสภาควรเอาคนรุ่นใหม่ลงพื้นที่ หากเอารัฐมนตรีที่เป็นคนรุ่นใหญ่ เอาคุณทักษิณลงไป คนรุ่นใหม่ที่ไหนจะสนใจเข้ามาจับไม้จับมือ

ปรับ ครม.ที่คาดเกิดขึ้นปลายเดือน พ.ค.หรือต้นเดือน มิ.ย. ช่วงปิดสมัยประชุม เชื่อมีคนรุ่นใหม่เข้าไป อยู่ใน ครม. โดยเฉพาะคุณอุ๊งอิ๊งค์ ปลอดภัยที่สุด ไปนั่งรมว.วัฒนธรรม

เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ แสดงบทบาทความเป็นยังลีดเดอร์ โชว์ประสบการณ์บางอย่างทางการเมือง แล้ววันหนึ่งกระโดดไปแทนคุณเศรษฐาถึงได้รับการยอมรับ

รวมถึงสลัดภาพที่มีพ่อคอยอยู่เคียงข้าง ไม่จำเป็นต้องฟังพ่อเสมอไป แสดงความเป็นผู้นำด้วยตัวเองให้ได้”

“ทักษิณ-อุ๊งอิ๊งค์” ซัพพอร์ตโดยอำนาจรัฐ

อำนาจรัฐอยู่ในมือ “เศรษฐา” หนุนเข้าไป

พอนายทักษิณลงพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียนก็ส่งต่อให้นายกฯ ดำเนินการต่อ และหลังจากนายทักษิณพ้นโทษคงมีบทบาททางการเมืองและเชิงนโยบายมากขึ้น

เช่นเดียวกับ น.ส.แพทองธาร และคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นใหม่ ลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนก็ส่งต่อนายเศรษฐา แล้วส่งเครื่องมือของรัฐเข้าไปสะสางปัญหาให้ประชาชน เพื่อสร้างผลงานไปกระตุ้นจิตใจ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ อย่างน้อยแย่งชิง 70% คนรุ่นใหม่ ในมือพรรคก้าวไกลกลับมาบ้าง

โดยเมื่อส่องโครงสร้างประชากรไทยจากโพล กลุ่มผู้สูงอายุได้เปรียบที่มีมากกว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งอายุ 45-60 ปีขึ้นไป ตีรวม 50% อายุ 18-35 ปี ตีรวมไป 30% แต่กลุ่มอายุ 36-45 ปี แกว่งไปมาข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง

พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นก้อนใหญ่จากคนรุ่นใหม่ 70% คะแนนกลุ่มอายุที่เหลือแกว่งไปมา แตกกระจายไปทุกพรรค แม้พรรคเพื่อไทยมาที่หนึ่งในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้น แต่ก็ได้ไม่เยอะ

พรรคก้าวไกลก็มีปัญหาสำคัญข้อหนึ่งในเชิงโครงสร้างจำนวนประชากร แม้โหวตเตอร์คนรุ่นใหม่เข้ามาทุกปี มันเข้ามาในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะอัตราเกิดมันน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีอายุยืนถึง 90 ปี ยังเดินไปคูหาได้

คนที่เป็นผู้ใหญ่ควรจับมือกัน ไม่เช่นนั้นสู้เด็กไม่ได้

คอนเซอร์เวทีฟต้องจับเข่าคุย คะแนนแตกกันก็จบ

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

จังหวะแบบนี้ที่พรรคก้าวไกลกำลังมึน ปั่นป่วนกรณีคดียุบพรรค ทั้งหาพรรคใหม่มารองรับ หาทางป้องกันไม่ให้ สส.แปลงกายเป็นงูเห่า เป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทยเข้าไปสร้างคะแนนนิยม โดยต้องทำแบบจริงจัง ชนิดต้องลงมาขันนอต จี้กันทีละคนทีเดียว

แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยตอนนี้ยังปรับทัพใหญ่ วางคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพียบเลย แม้เป็นทายาทบ้านใหญ่ก็หวังว่าเข้ามามีบทบาทที่ดึงคะแนนคนรุ่นใหม่อายุ 18-35 ปีได้

ยุทธศาสตร์เดินการเมือง 3 ขามีผลดีต่อพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล แต่ถ้าแครกอำนาจกันผลก็ออกตรงกันข้าม ผศ.ดร.สุวิชา บอกว่า พ่อ และลูกไม่มีทางแครกอำนาจกัน สุดท้ายต้องมีพ่อหรือลูกยอมสักคน ส่วนนายกฯรู้ดีว่ามาเพื่ออะไร ไม่ขัดกันหรอก เชื่อว่าไปได้ ถึงอย่างไร ก็ยกหูคุยกันได้

แต่สักวัน น.ส.แพทองธารต้องขึ้น ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มคะแนนนิยมสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ถึงเวลานั้นถึงก้าวขึ้นเป็นนายกฯ

“คุณทักษิณรักลูก เชื่อไม่ส่งลูกมาให้โดนหลอก ปล่อยให้คุณเศรษฐาต่อยไปเรื่อยๆ จนได้คะแนนนิยมเยอะๆ ถึงค่อยแตะมือส่งคุณอุ๊งอิ๊งค์ขึ้นไป

ยังมีเวลาอีกกว่า 3 ปี กว่าจะถึงคิว หรืออาจผ่านไปสัก 3 ปี คุณเศรษฐาพอแล้ว คุณอุ๊งอิ๊งค์คะแนนนิยมดีขึ้น ก็กระโดดขึ้นไปเป็นได้

สมมติปี 69 ผ่านไป 3 ปี คะแนนเพื่อไทยพุ่งกระฉูด สูสีก้าวไกล คะแนนคุณอุ๊งอิงค์พุ่งสูง หรือคะแนนคุณเศรษฐาพุ่งสูสีหัวหน้าพรรคคนใหม่ ของพรรคใหม่จากพรรคก้าวไกล”

นายทักษิณไม่รอจนครบ 4 ปี ยุบสภาดึงนายเศรษฐาลง

ผลักดัน น.ส.แพทองธารขึ้นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม