นายกรัฐมนตรี มุ่งผลักดัน Soft Power ด้านศิลปะ สนับสนุนการนำเสนอ-ส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ส่งผลยอดส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ปี 2566 มีมูลค่าสูงถึงกว่า 3.4 แสนล้านบาท พร้อมทั้งยินดีที่กระแสความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้
วันที่ 2 เมษายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญในการมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมศักยภาพสาขาศิลปะในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทย สู่สายตานานาชาติ เพื่อกระตุ้นกระแสความนิยมชื่นชอบสินค้าไทย และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะเพิ่มโอกาสการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชน ควบคู่กับการธำรงรักษาเอกลักษณ์และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ The Support Arts and International Centre of Thailand (SACIT) เปิดเผยมูลค่าการส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในปี 2566 เติบโตถึง 340,820 ล้านบาท
สินค้าศิลปหัตถกรรมที่ไทยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก
- เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง (91,161 ล้านบาท)
- เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน (56,060 ล้านบาท)
- เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (46,850 ล้านบาท)
- เครื่องใช้สำหรับเดินทาง (22,982 ล้านบาท)
- เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย (17,719 ล้านบาท)
ประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าศิลปหัตกรรมไทยมากที่สุด
- อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา (94,203 ล้านบาท)
- อันดับที่ 2 ฮ่องกง (26,764 ล้านบาท)
- อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น (21,232 ล้านบาท)
- อันดับที่ 4 เยอรมนี (20,147 ล้านบาท)
- อันดับที่ 5 สหราชอาณาจักร (16,357 ล้านบาท)
...
โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจำหน่ายสินค้าศิลปหัตกรรมไทยผ่านช่องทางของ SACIT ในปี 2566 มีมูลค่าถึงกว่า 291 ล้านบาท และมีการจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง ไม่รวมอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา ทั้งในไทยและต่างประเทศทางออนไลน์และออฟไลน์ ตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่ารวมกว่า 1.16 แสนล้านบาท ทั้งนี้ SACIT พร้อมยกระดับสินค้าศิลปหัตกรรมไทยสู่การเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืนผ่านการจัดงาน “sacit Craft Power : แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัย” ที่นำเสนอความรู้และทิศทางในการต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกสาขาแก่ผู้ประกอบกิจการสินค้าทั่วประเทศ ให้สามารถมองแนวโน้มสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในอนาคตได้อย่างชัดเจน และพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ประสงค์ให้ประเทศในยุโรป เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเผยแพร่ Soft Power ด้านงานศิลปะของไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ร่วมสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถด้านภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย นำผลงานมาจัดแสดงภายใต้ชื่อ “Bangkok Series” และ “Muay Thai Series” ณ Manes Gallery กรุงปราก เมื่อวันที่ 14-25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยและอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้กับนานาชาติผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะ
นายชัย ระบุในช่วงท้ายว่า “นายกรัฐมนตรี ยินดีที่กระแสความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยเป็นความสำเร็จที่ทำให้ มูลค่าส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมีปริมาณการเจริญเติบโตสูง พร้อมขอบคุณทุกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนกระบวนการ Soft Power ไทยด้านศิลปะที่ร่วมกันสร้างสรรค์จนทำให้สามารถดึงดูดผู้บริโภคจากทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างสร้างสรรค์ด้วย Soft Power โดยเชื่อมั่นว่าการบูรณาการร่วมมือการทำงานจากทุกภาคอย่างเข้มแข็ง จะพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้แข็งแกร่งได้ยิ่งขึ้นในเวทีโลก”