ผมชำเลืองดูว่าวันที่ที่ต้นฉบับเรื่องนี้จะลงตีพิมพ์ในไทยรัฐคือ28 มีนาคม 2567 ก็ได้แต่หวังว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งผ่านวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. และมีกำหนดจะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาในวันอังคารที่ 26 มี.ค.นั้น...น่าจะผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
เพื่อเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯถวายในวันที่ 2 เมษายน ตามที่คณะรัฐมนตรีเคยแถลงข่าวไว้
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 นี้...ถ้าเป็นในวาระปกติควรจะเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 และสามารถใช้เงินงบประมาณต่างๆได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา
แต่เนื่องจากประเทศเรามีการเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมจึงต้องรอให้สะเด็ดนํ้าเสียก่อนว่า พรรคไหนจะมาเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การจัดทำงบประมาณต้องหยุดรอไปโดยปริยาย
มาเริ่มกันใหม่หลังประเทศไทยได้พรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำและได้ คุณเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ค่อยเริ่มพิจารณางบประมาณ 2567 กันใหม่ ประมาณเดือนตุลาคม 2566 เพิ่งจะแล้วเสร็จส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 3-4 ม.ค.2567 นี่เอง
ส่งผลให้รัฐบาลไทยไม่มีงบประมาณใหม่ออกมาใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ แม้รัฐบาลจะมีมติให้ใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้ แต่หมวดสำคัญที่สุดคือ หมวดการลงทุนภาครัฐที่ยังจำเป็นต้องรองบประมาณใหม่ที่แล้วเสร็จสมบูรณ์
จึงเท่ากับว่าไม่มีเงินจากโครงการลงทุนใหม่ของรัฐบาลไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยเลยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทำให้จีดีพีของปีที่ผ่านมาลดตํ่าลงอย่างน่าใจหาย
ปรากฏว่า เข้าสู่ปี 2567 งบประมาณก็ยังไม่เสร็จ...ภายใน 3 เดือนแรก เพราะเพิ่งจะผ่านวุฒิสภาดังที่เกริ่นไว้ในช่วงต้น
...
เท่ากับงบลงทุนโดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดียิ่ง ได้หดหายไปจากประเทศไทยถึง 6 เดือนเต็มๆ
หายแบบคร่อมปีด้วย คือ ปีที่แล้ว 3 เดือนหลัง และปีใหม่นี้ 3 เดือนแรก จึงฉุดตัวเลขอัตราเพิ่ม จีดีพี ลงอย่างที่สำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดหมายไว้ (2566 ประมาณ +1.9% และ 2567 คาดไว้ที่ +2.2-2.3%)
ผมเองโดยส่วนตัว ไม่เชื่อในระบบจีดีพีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะไม่เชื่อว่ามันจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจอย่างแท้จริงได้ทั้งหมด...ยิ่งประเทศเรามีระบบสีเทาหรือสีดำค่อนข้างมาก ก็น่าจะสะท้อนผิดข้อเท็จจริงไปเยอะ
แต่ผมก็เข้าใจดีว่า เราไม่มีทางเลือก เพราะโลกทั้งโลกเขาบ้าคลั่ง จีดีพี กันหมด และจับตาดูจีดีพีของแต่ละประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อใช้ในการตัดสินใจด้านการลงทุนในทุกๆประเภท รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศต่างๆ
พอเห็นจีดีพีใครตํ่าก็จะมองว่าประเทศนั้นท่าจะแย่แล้ว และจะส่งผลไปถึงการลงทุนและการเคลื่อนย้ายทุนตามมาทันที
อย่างเช่นจีดีพีของไทยเราที่เพิ่มในอัตราตํ่า จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากต่างประเทศเขารู้ และนักเศรษฐศาสตร์จริงๆเขาก็รู้ว่า ที่มันตํ่าเป็นเพราะอะไร เขาจึงไม่ได้มองเศรษฐกิจไทยในแง่ร้ายมากนัก
เขารู้ด้วยว่า เครื่องยนต์ตัวอื่นๆของประเทศไทย ทำงานได้ดีอย่างไร? ตัวไหนที่ดีมากๆ? ตัวไหนที่น่าห่วง?
ดังนั้น หากการจัดทำงบของเรากลับเข้าสู่ความเป็นปกติ และการลงทุนภาครัฐไหลลงสู่ระบบตามเดิม ค่าจีดีพีก็จะเพิ่มกลับมาในระดับหนึ่ง
ที่น่าห่วงคือ เรื่องการส่งออก และการค้าต่างประเทศ นั่นก็เป็นไปตามสถานการณ์โลก เพราะโลกเองก็ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
ของเรายังมีดีเรื่อง “การท่องเที่ยว” ที่ยังเป็นพระเอกและนางเอกอยู่ และน่าจะยังเป็นต่อไปตลอดปีนี้
ผมจึงแอบเชื่อว่า ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (2567) เมื่องบลงทุนภาครัฐเริ่มออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น
ขอเพียงอย่าให้การจัดทำงบประมาณปีใหม่ 2568 (ซึ่งควรจะออกมาใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567) ต้องตกขบวนรถด่วนอีกก็แล้วกัน
เร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้ทันท่วงที และเลือกโครงการลงทุนที่มีประโยชน์จริงๆ...เดี๋ยวทุกอย่างก็ฟื้น และจะฟื้นอย่างถาวรด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตมาเสริม...
ผมยังเชื่อเช่นนี้ครับ.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม