“ชโยทิต-นฤตม์” กางผลงานโรดโชว์ “นายกฯ เศรษฐา” 6 เดือน เยือน 14 ประเทศ พบ 60 บริษัทชั้นนำ ดึงเม็ดเงินลงทุน 558,000 ล้านบาท บีไอไอ ย้ำ ไทยกำลังได้รับอานิสงส์ของคลื่นการลงทุนลูกใหม่ในรอบ 30 ปี
วันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานผู้แทนการค้าไทย และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการลงทุนและความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างชาติ ว่ารัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง มีแต่เรื่องดีๆ เป็นเรื่องสำคัญๆ ในส่วนของฝ่ายปฏิบัติที่เขาได้ทำงานมา มีรายละเอียดจำนวนมาก มีทั้งเรื่องการลงทุน อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การเมือง คาบเกี่ยวกัน
จากนั้น ม.ล.ชโยทิต แถลงว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางเยือน 14 ประเทศ พบปะบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง เน้นดึงดูดการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างประเทศด้วยอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ท่องเที่ยว การเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ประเทศไทยอยากเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) และคลาวด์ เซอร์วิส (Cloud Service) การชักชวนให้บริษัทระดับโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค (Regional Headquarters) ในประเทศไทย
...
“ต่างชาติให้ความสำคัญกับประเทศไทยว่าไม่ได้เอาแต่พูด เดินไปข้างหน้าและทำจริงๆ ทำไมเราถึงเป็นกระต่ายแบบที่ผมพูด ตราบใดที่กระต่ายไม่หลับ อย่างไรก็ต้องชนะวันยันค่ำ โดยภูมิรัฐศาสตร์ด้านตะวันออกและตะวันตกไม่ค่อยถูกกันนัก ขณะที่ไทยทำตัวเป็นกลางจริงๆ ไทยเป็นเพื่อนกับทุกประเทศ พยายามทำตัวเองเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความขัดแย้ง เป็นสิ่งหลักที่ต่างชาติเลือกมาคุยกับไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าไทยตื่นแล้ว ปรับตัวเองแล้ว เขาจึงมาคุยกับเรา ทีมงานของรัฐบาลทำงานอย่างขมักเขม้นเพื่อประกาศกิตติศัพท์ว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว แม้ถูกกล่าวขานว่าเป็นสาวที่ค่อนข้างจะมีอายุแล้ว เราจะกลับมาเป็นสาวที่มีอายุแต่ทันสมัยอย่างไร ทีมนั้นเฟ้นที่จะทำอยู่ การเดินทางไปเจอผู้คนมากมายก็ต้องมีการเตรียมการ และไปติดตามให้เขามาประเทศไทยอย่างจริงๆ จังๆ”
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวต่อไปว่า บีโอไอได้ประเมินเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลัก รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมดิจิทัล 250,000 ล้านบาท อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วน 210,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมีคอนดักเตอร์ 95,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โลจิสติกส์ 3,000 ล้านบาท โดยในช่วง 3 ปีจากนี้ จะมีเงินลงทุนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในปี 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 850,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่นายกรัฐมนตรีเริ่มเดินทางไปพบปะนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้มูลค่า FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าการโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรี ได้ผลอย่างมาก เพราะถ้าบีโอไอทำเองก็ได้พบกับเบอร์ 2 เบอร์ 3 ของบริษัท แต่ที่นายกรัฐมนตรีไปเอง ได้พบกับเบอร์ 1 และผู้นำประเทศที่ตัดสินใจได้เลย
“การลงทุนในประเทศครั้งนี้ เป็นคลื่นการลงทุนลูกใหม่ หรือ New Wave ในรอบ 30 ปี ด้วยปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าโลกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 สถานการณ์โควิด-19 การที่นายกรัฐมนตรีลงมาลุยเรื่องนี้และเจาะเป้าหมายการลงทุน ไม่ได้ส่งผลแค่บริษัทที่ได้เจอ แต่ส่งผลถึงการสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วย บีโอไอจึงมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้เกินกว่าเป้าที่วางไว้ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ 2566-2570 ที่ 3 ล้านล้านบาท เห็นได้จากปี 2566 ได้มาแล้ว 850,000 ล้านบาท ในปี 2567 มั่นใจไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ สิ่งที่จะเห็นการลงทุนในปีนี้ชัดเจน คือ การลงทุนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชิปต้นน้ำ ลงทุนโดยบริษัท HANA Electronic จะช่วยทำให้ไทยเริ่มมีการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โรงงานประเภทนี้ในอาเซียนมีเฉพาะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนเวียดนามยังไม่มี นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในศูนย์ทดสอบชิปขั้นสูงมูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท ศูนย์การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศ ซึ่งจะมีการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ซึ่งบีโอไอมีการให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนจับมือกับสถานศึกษา เพื่อมีการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้วย อีกทั้งต้นเดือนเมษายน 2567 บีโอไอจะไปดึงการลงทุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระดับเซลล์ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ต้นน้ำ คาดว่าปีนี้จะมี 2 ราย เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต.