คำนูณ สิทธิสมาน สว. ยัน "เกาะกูด" เป็นของ "ไทย" ไม่ใช่ของ "กัมพูชา" ย้ำ ยกสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส 1907 ตอกย้ำ ลั่น ต้องเจรจาเขตแดนให้เสร็จก่อน ยัน ไม่เห็นด้วย หาก เจรจายึดตาม MOU 2544 ชี้ ไทยจะเสียเปรียบ 

วันที่ 25 มี.ค. 2567 เมื่อเวลา 19.05 น. ในการประชุมวุฒิสภา วาระการเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 153 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายยืนยันว่า "เกาะกูด" เป็นพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ใช่ของประเทศ กัมพูชา พร้อมนำหลักฐานการประกาศเส้นไหล่ทวีปของไทย ซึ่งเป็นการลากเส้น 2516 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรฐานสากล ตั้งแต่สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้ประกาศ และได้ส่งกำลังพลของกองทัพเรือไทยเข้าไปลาดตระเวนมาตลอดอีกด้วย

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย มีการยืนยันในสิทธิเส้น 2516 ของไทยมาก่อนแล้ว ด้วยสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ที่ไทยทำสัญญากับประเทศฝรั่งเศส

ขณะเดียวกันนายคำนูณ ยังยืนยัน ว่า "MOU 2544" หากยึดตาม MOU นี้ จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศกัมพูชา ซึ่งเราคนไทย ควรต้องยึดถือประกาศพระบรมราชโองการ 2516 จึงทำให้การเจรจาถูกจำกัดกรอบในรูปแบบเดียว อย่างไรก็ตามข้อดี เอ็มโอยู 2544 ก็มี แต่มีน้อยกว่าข้อเสีย

"สิ่งที่อยากพูดเพราะตนศึกษาเรื่องนี้มา 10 กว่าปี เราไม่อาจแยกได้ออกจากกรณี วิกฤติ รศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งกินเวลาไป 13-14 ปี ที่ประเทศไทยต้องกล้ำกลืนฝืนทน เสียทั้งเงิน และเสียดินแดนอย่างมหาศาล" นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูญ กล่าวต่อว่า ที่เป็นห่วง คือ เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เข้ามา และมีการทำเอ็มโอยูปี 2544 ก่อให้เกิด 3 ล็อค 2 เสี่ยง 3 ล็อค คือ 1.ให้แบ่งเขตแดนเฉพาะส่วน 2.กำหนดพื้นที่ผลประโยชน์ไว้ตายตัวในส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งดินแดน 3.ไม่อาจเจรจารูปแบบอื่นได้

...

ขณะที่ 2 เสี่ยง คือ 1.เสียผลประโยชน์ (ทันทีที่ตกลง) และ2.เสียเขตแดน (ทันทีที่ตกลงและในอนาคต) ขณะที่ข้อเสีย คือ ไทยไม่มีประเด็นใดๆจะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูด การไปยอมรับการมีอยู่ของเส้นแบ่งแนวเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา มาบันทึกลงในเอ็มโอยู ปี 44 เป็นเพียงการนำข้อขัดแย้งมาบรรจุไว้เพื่อให้มีการเจรจา หรืออาจเข้าข่ายการยอมรับโดยปริยาย หรือเข้าลักษณะกฎหมายปิดปาก หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในอนาคต ดังนั้น ถ้าไทยละทิ้งความได้เปรียบ เส้นแบ่งเขตแดนทั้งส่วนบนและส่วนล่างไป จะทำให้เราเสียเปรียบกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ครม.จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร

ตนเชื่อมั่นในความจงรักภักดี การจะตัดสินใจอย่างไรต้องความเคารพและรับผิดชอบ 2กรณี คือ 1.ต้องรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษ ที่รักษาดินแดนไทยและส่งมอบมาถึงรุ่นเรา และ2.ต้องรับผิดชอบต่อลูกหลานว่าการตัดสินใจใดๆต้องเหลือมรดกไว้ให้ลูกหลาน หากรัฐบาลจะเลือกเดินตามแนวทางตามเอ็มโอยูปี44 หรือรัฐบาลจะมีแนวทางใหม่ที่จะเลือกเดิน โดยเอาขุมทรัพย์ใต้ทะเลขึ้นมาใช้ก่อน และไม่พูดเรื่องเขตแดนไปพร้อมกัน ตนไม่เห็นด้วย ตนเห็นว่าเราต้องเจรจาเรื่องเขตแดนตลอดแนวของทั้ง2ประเทศ

"ยืนยัน สำหรับผมเห็นว่า เราต้องทำไปพร้อมกันและเจรจาเขตแดนทั้ง 2 ประเทศ ตลอดแนวให้รู้เรื่อง ก่อนจะมาพูดเรื่องผลประโยชน์พลังงานในทะเลไทย การที่ท่านนายกฯ พูดแบ่งการเจรจาออกจากกัน อันตรายนะครับ ฝากเพื่อนฝูงในคณะ ครม.ช่วยกราบเรียนท่านนายกฯด้วย ขอยืนยัน ผมไม่เห็นด้วย" นายคำนูณ กล่าว