ประชุมวุฒิสภา “ถวิล เปลี่ยนศรี” อภิปรายซัดกระบวนการยุติธรรมคดีอดีตนายกฯ ต้องตำหนิรัฐบาล พร้อมถาม คิดว่าคนไทยกินหญ้าหรือ ชี้ อวิชชาบดบังสติปัญญา รอวันกฎหมายและกฎแห่งกรรมทำงาน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 การประชุมวุฒิสภา ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 153 โดยในเวลา 14.49 น. นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อภิปรายประเด็นปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ว่า วุฒิสภาที่มีแต่เรื่องของบ้านเมือง ไม่มีการเมือง ขอให้นายกรัฐมนตรีสบายใจได้ ไม่มีอคติส่วนตัวเข้ามาปะปน พร้อมกล่าวไปถึงคำแถลงนโยบายของรัฐบาล แต่รัฐบาลได้ละเว้นการปฏิบัติและสร้างความเสียหาย ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลง 

พร้อมยกตัวอย่างคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี (นายทักษิณ ชินวัตร) ที่กลับมาไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่กระทบนโยบายความยุติธรรมของคนทั้งประเทศ ถ้าไม่พูดที่นี่จะไปพูดที่ไหน ซึ่งในหลักการเมื่อกลับมารับโทษคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนทำผิดก็ต้องรับโทษ ตรงไปตรงมากฎหมายก็ศักดิ์สิทธิ์ แต่น่าเสียดายที่เมื่อเหยียบย่างเข้ามาแผ่นดินนี้ เรื่องแปลกๆ ก็เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การไปต้อนรับนักโทษ จากนั้นเข้าเรือนจำกลางไม่กี่ชั่วโมงก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และได้รับการอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เรื่องแปลกๆ ยังไม่หยุด เพราะได้รับการรักษานอกเรือนจำจนเกิน 120 วัน ข้อมูลการแพทย์ก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมมาตลอด 

...

หลังได้พักโทษความเคลือบแคลงสงสัยยิ่งเพิ่ม เพราะมีการเปิดบ้านรับแขกบ้านแขกเมือง ขออนุญาตเดินทางไปเชียงใหม่ ยิ่งแปลกที่มีทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด มารับและรายงานข้อราชการ ไม่เหมือนนักโทษที่พักโทษ ไม่เหลือเค้าอาการเจ็บป่วยรุนแรงวิกฤติเสี่ยงต่อชีวิตที่แพทย์โรงพยาบาลตำรวจยืนยันมาตลอด สังคมมองเห็นว่าบิดเบี้ยว เบี่ยงเบน ไม่เสมอภาค ที่น่าเสียใจคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปถึงแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กลับยืนยันเสียงแข็งว่าเรื่องนี้ปฏิบัติถูกต้อง ชอบธรรม ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่เอะใจสงสัยบ้างหรือว่าทำไมคำตอบออกมาค้านสายตาคนทั้งประเทศ 

“ผมอาจจะพูดแรงไปนะครับ ท่านคิดว่าคนไทยกินหญ้า กินแกลบ หรือผมไปกินน้ำค้างหน้าบ้านผม ไม่ได้กินข้าวเหมือนพวกท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีนี้หรืออย่างไร จึงหลอกตัวเอง หลอกคนทั้งประเทศ ท่านคิดว่าเดี๋ยวคนคงจะลืมๆ แล้วก็คงจะแล้วกันไป เพราะว่าปลุกม็อบไม่ขึ้นแล้ว บาดเจ็บกันมามากแล้ว และคนไทยขี้ลืม เดี๋ยวก็ลืมกันไป เรื่องนี้จะไม่ลืมเป็นอันขาด ในฐานะที่ผมได้ผ่านเหตุการณ์มาค่อนข้างมาก ทำงานด้านความมั่นคงมาก็หลายปี เรื่องนี้จะเป็นบาดแผลลึกที่ไม่มีวันหาย และจะเป็นฝันร้ายที่ไม่มีวันจางหายไปเป็นอันขาด จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว อาจจะเป็นอย่างนั้นได้ตามที่หลายๆ ท่านได้พูดถึง”

นายถวิล อภิปรายโดยกล่าวย้ำว่า การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร กระบวนยุติธรรมที่ไม่ตรงปก ไม่ตรงไปตรงมา มีผลกระทบต่อสังคมนี้อย่างน้อย 4-5 ประการ ดังนี้

1. ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น เพราะคนที่รัก คนที่เชียร์ก็ชอบ ส่วนคนที่เกลียดชังเขาก็แช่งในเรื่องนี้ แล้วความสงบ ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะอ้างว่าปรองดองโดยฝ่ายหนึ่งยืนเหยียบอยู่บนหัวของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ตนไม่เห็นด้วยว่าจะบรรลุผลได้อย่างไร ทำไมไม่ทำให้ถูกต้องแต่ต้น สังคมก็อยู่รวมกันได้ 

2. เรื่องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง จะกระทบต่อค่านิยมที่สำคัญของบ้านเมืองหลายอย่าง จะบอกลูกหลานอย่างไรให้เชื่อ ในเมื่อสิ่งที่เห็นประจักษ์แก่สายตาย้อนแย้งกับสิ่งที่เห็น 

3. ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ ความยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองลงไปหมดสิ้น กว่าแต่ละคดีจะมาถึงขั้นลงโทษผู้กระทำความผิด สังคมนี้ใช้จ่ายทรัพยากรทั้งตัวบุคคล ทั้งเงินทอง ทั้งทรัพย์สินต่างๆ ลงไปไม่ใช่น้อยๆ จนกว่าจะมีคำพิพากษา แต่การบริหารโทษในชั้นปลายน้ำ ทำให้ความพยายามต่างๆ ที่ยากลำบากสูญสลายไปในพริบตา ความน่าเชื่อถือของนานาชาติก็เสียหาย นโยบายรัฐบาลระบุว่า การลงทุนในยุติธรรมเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด คุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาประเทศและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่นานาประเทศ แต่สิ่งที่ได้ทำลงไป ทำชื่อเสียงของระบบความยุติธรรมประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพงแสนแพง ประเทศชาติขาดทุนย่อยยับกับสิ่งที่ได้ทำลงไป

4. ทำลายระบบราชการ ทำลายกระบวนการยุติธรรมเสียหายย่อยยับ โดยเฉพาะในส่วนของการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา เพราะคนเชื่อแล้วว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ถ้ามีอำนาจ มีเงิน ก็สามารถทำให้สิ่งเหล่านั้นกลับกลายไปได้ ไม่จำเป็นต้องรับโทษ เราจะอยู่กันในบ้านเมืองที่มีหลักอย่างนี้หรือ 

5. การได้รับอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี แต่โทษ 1 ปี กลับถูกกระบวนการบริหารโทษที่กำกับดูแลอยู่ทำเสียหาย จนทำให้อดนึกไม่ได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้คำนึงถึงพระเกียรติยศ พระเมตตาของพระองค์ท่านบ้างหรือไม่ 

“เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ผมอาจจะพูดถึงตัวบุคคล อดีตนายกรัฐมนตรีหลายครั้งหลายหนก็จริง เพราะเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวเท่านั้น แต่ว่าผมไม่ได้โทษท่าน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นผมไม่โทษ อดีตนายกรัฐมนตรี อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเขา อะไรที่เขาได้รับประโยชน์ เขาก็ต้องยินดีรับเอา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แม้ว่าโดยส่วนตัวผมไม่ชอบ ผมอาจจะถึงขั้นชิงชังรังเกียจความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้อย่างไรก็ตาม

แต่ผมไม่โทษตำหนิท่าน ผมต้องโทษต้องตำหนิรัฐบาล กลไกภายใต้การกำกับดูแลของท่านที่ทำให้เกิดเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้ ท่านน้อมประคองส่งมอบสิ่งนี้ให้เขาเอง ทั้งที่ๆ ท่านสามารถป้องกัน แก้ไข ไม่ให้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้นได้ ที่น่าเสียใจยิ่งกว่านั้น ก็คือท่านยังยืนยันว่าท่านทำถูก ทำดีแล้ว อวิชชาที่บดบังสติปัญญาเช่นนี้ ผมคิดว่ายากจริงๆ ที่จะพูดกันให้เข้าใจ ยากจริงๆ ที่จะทำให้เห็นแจ้งเห็นจริงในเรื่องนี้”

นายถวิล กล่าวก่อนจบการอภิปรายว่า คงต้องรอ 1. กฎหมายตามเช็กบิลในการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เรื่องของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องตามกฎหมายที่จะตามมา และ 2. สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนกว่า ไม่สามารถบิดเบือนกลับกลายได้ คือ กฎแห่งกรรม วันหนึ่งคิดว่าไม่ช้าเกินรอ ที่จะได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง มอบคุณมอบโทษให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตามวิบากกรรม ตามการกระทำ