2 สว. อภิปรายรัฐบาล “สุรเดช” ตั้งคำถาม ศึกษาแลนด์บริดจ์รอบคอบจริงหรือไม่ พร้อมแนะจุดแข็งไทย ควรต่อยอดระบบส่งขนด้านอื่นๆ ด้าน “อนุศักดิ์” จี้ให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานราก พัฒนามา 40 ปี แต่กลับอ่อนแอลง
เมื่อเวลา 12.56 น. วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายสุรเดช จิรัฐฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 153 ถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของชาติ เรื่อง สะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และเรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่นายกรัฐมนตรีเดินสายเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศ และบอกว่าไทยไม่มีเมกะโปรเจกต์มานานแล้ว มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและข้อคำถามว่า จะทำให้การขนส่งเร็วกว่าหรือไม่ จะถูกกว่าหรือไม่ เพราะคล้ายว่าจะเป็นการทำงานหลายขั้นตอน ค่าใช้จ่ายสูง
อีกทั้งท่าเรือน้ำลึกไม่ใช้สร้างที่ไหนก็ได้ อาจจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จึงตั้งคำถามว่าการสร้างในจุดนี้เหมาะสมหรือไม่ มีการประเมินค่าเสียหายหรือไม่ มีการสอบถามนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หรือเปล่า รวมถึงได้ถามผู้ประกอบการเดินเรือว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเดินเรือในไทยก็ไม่เห็นด้วย ช่องแคบมะละกาคับแคบจริงหรือไม่ พร้อมมองว่าเส้นทางเดิมคู่แข่งคงไม่อยู่เฉย และต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่มีความชำนาญเรื่องการเดินเรือ ขนส่งทางเรือ มีการถอดบทเรียนจากในอดีตบ้างหรือไม่ หลายสิ่งที่เคยทำมาก็ร้าง
“การใช้เอกชนลงทุน 100% นักลงทุนเขาไม่โง่ ถ้าไม่คุ้มค่า หรือมีความเสี่ยง เขาไม่ลงทุน ต้องศึกษาให้รอบคอบ เพราะถ้าเราทำไปแล้ว เดินหน้าไปแล้ว ประกาศไปแล้ว เวนคืนไปแล้ว ถ้าไม่มีเอกชนมาลงทุน โครงการต่างๆ ก็จะเสียหายไปเหมือนอย่างเช่นโครงการที่ผ่านมา เป็นบทเรียนหลายโครงการ จึงมีข้อสังเกตดังนี้ โครงการขนาดใหญ่ผมคิดว่าควรจะศึกษาให้รอบคอบ ช่วงนี้ยังดีหน่อยทางท่านนายกรัฐมนตรีไม่ค่อยพูดถึงแลนด์บริดจ์เท่าที่ควร แต่ก็อยากให้ศึกษารอบคอบ ไม่ควรจะปักธงไว้ก่อน ควรจะศึกษา ฟังให้รอบคอบถึงเดิน ถ้าท่านปักธงไว้ก่อนแล้ว ผมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องทำรายงานศึกษาสอดคล้องกับท่านที่ต้องการ เรามีจุดแข็งทางด้านเดินเรือสมุทรหรือไม่ ที่สำคัญเราได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือผู้เล่นรายเดิมหรือเปล่า”
...
นายสุรเดช กล่าวเสนอว่า ไม่จำเป็นที่จะทำท่าเรือแลนด์บริดจ์อย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมคมนาคมไทยเพราะมีเรามีจุดแข็งอยู่แล้ว เพราะถ้าเราทำให้ถูกที่ถูกทาง และเหมาะสม จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้น ดังนี้
- ระบบขนส่งทางราง เดิมทีมีสิงคโปร์-มาเลเซีย-คุนหมิง แต่อาจต้องปรับปรุงบางจุดเป็นรางคู่ จะช่วยส่งเสริมท่องเที่ยวและขนส่งทางรางมากขึ้น รถไฟความเร็วสูงก็ยังไม่ถึงไหน อีกทั้งต้องรีบเชื่อมโยงหนองคาย-เวียงจันทน์ เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีโอกาสมากขึ้น และควรส่งเสริมเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ
- ระบบทางอากาศ ไทยมีผู้โดยสาร 45 ล้านต่อปี หลังเปิด SAT1 ตั้งเป้าเป็น 60 ล้านต่อปี เรามีภูมิศาสตร์ดี สถานที่ท่องเที่ยวดี
- ระบบทางเรือ ท่าเรือภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่เรือสำราญ (Cruise) สามารถจอดได้ (Home Port) ถ้าสามารถทำให้เรือใหญ่เทียบได้ จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
- ระบบทางบก ท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค ASEAN DRIVE TOURISM มองว่าควรเพิ่มจีนเข้าไปด้วย และควรปรับปรุงระเบียบกฎหมายแก้ไขอุปสรรคเดิม
ต่อมาเวลา 13.22 น. นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สว. อภิปรายต่อในปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและการปฏิรูปประเทศด้านสิทธิชุมชน ว่า ประชาชน ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วม พลังทางสังคม เศรษฐกิจฐานราก ความเสมอภาค และหลักประกันทางสังคม ทั้งหมดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ยังใช้ไปอีกถึงปี พ.ศ. 2579-2580 โดยประเทศไทยขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาชุมชนมากว่า 40-50 ปี แต่เราไม่สามารถนำสิ่งที่ศึกษามาใช้เป็นพลังทางสังคมได้ เศรษฐกิจฐานรากก็อ่อนลงอย่างชัดเจน กลายเป็นเกิดความเหลื่อมล้ำ สร้างปัญหา
ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้แถลงว่าจะเสริมขีดความสามารถประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนทุกคน แต่มีการดำเนินการหรือไม่ ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะรอแต่เงินดิจิทัลวอลเล็ต แค่จะต้านทางกับอาชญากรรมออนไลน์ก็มีปัญหาแล้ว ในขณะที่ประเด็นรัฐบาลจะบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO) ส่วนตัวเห็นด้วย แต่ได้มอบอำนาจการบริหารลงไปด้วยหรือไม่ เพราะต้องตอบสนองแต่ละพื้นที่ที่ต่างกัน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร จะเป็นการกระจายลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง แต่พบว่ายังมีกลไกบางอย่างถูกครอบงำจากภาครัฐ
พร้อมตั้งคำถามว่า จะมีการใช้กลไกที่ต้องเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างไร ไม่ใช่ให้แต่ประชาชนท่องแต่คำว่าปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาเรื้อรังสิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำ ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่างๆ เราส่งเสริมการพัฒนาอาชีพมา 40 ปี แต่กลับอ่อนแอและอ่อนแรงลง กลไกการเมืองฟาดฟันกันจนลืมประชาชน ดังนั้น ต้องเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญในส่วนต่างๆ เหล่านี้ ก่อนจบการอภิปรายในวลา 13.39 น.