“ไอติม พริษฐ์” แชร์ 4 ข้อกังวล-ข้อสังเกต ต่อกระบวนการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญ กกต. ให้ข้อมูลและหารือแนวทางแก้ไขเพิ่มเติม 28 มี.ค.นี้ หลังสัปดาห์ก่อนอ้างติดภารกิจ

วันที่ 23 มีนาคม 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กถึงการร่วมงานเสวนา Sol Bar Talk ในหัวข้อ “สว. ชุดใหม่ มาจากไหน?” ร่วมกับ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ว่า แม้เจตนาของกฎหมายไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนผู้สมัครคนใดหรือกลุ่มใด แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งและในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนได้แชร์ 4 ข้อสังเกตหรือข้อกังวลที่มีเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่แบบแบ่งกลุ่มอาชีพ-สังคม เลือกกันเอง ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนี้ 

1. วุฒิสภาชุดใหม่ยังคงมีโครงสร้างอำนาจ ที่มา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้วุฒิสภาใดๆ มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คือความสอดคล้องกันระหว่างอำนาจที่ สว.มี และที่มาหรือกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ดังกล่าว แม้ สว.ชุดใหม่ จะมีโครงสร้างอำนาจ ที่มา ที่มีความชอบธรรมมากขึ้นกว่า สว. 250 คนชุดปัจจุบัน แต่ สว.ชุดใหม่ ยังนับว่าเป็นวุฒิสภาที่มีอำนาจสูง เช่น อำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เมื่อเทียบกับที่มา ที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการคัดเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร

...

2. กระบวนการคัดเลือก สว. ไม่สอดรับกับเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว. ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ แม้ผู้คิดค้นกติกาคัดเลือก สว. มักอ้างถึงเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว. ที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ แต่กระบวนการที่ถูกออกแบบมา มีหลายส่วนที่ไม่น่าจะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เช่น 

  • ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ มักมีแนวโน้มจะเป็นคนที่เป็นที่ยอมรับจากคนในสาขาดังกล่าวทั่วประเทศ แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ปัจจุบัน ออกแบบให้ผู้สมัครทุกคนต้องเริ่มจากการแข่งขันกันในระดับอำเภอ ซึ่งอาจทำให้คนที่ได้เปรียบในการคัดเลือกระดับอำเภอ กลับไม่ใช่คนที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจากคนในแวดวงดังกล่าว แต่เป็นคนที่มีเครือข่ายหรืออิทธิพลเฉพาะพื้นที่
  • ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ อาจเป็นคนที่เป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยคนในสาขาอาชีพของตนเองเป็นหลัก แต่กระบวนการคัดเลือก สว.ปัจจุบัน มีขั้นตอนของการเลือกไขว้ ซึ่งทำให้ผู้สมัครที่จะได้รับคัดเลือก ต้องพึ่งคะแนน หรือความไว้วางใจจากผู้สมัครในสาขาชีพอื่น ที่อาจไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว

3. กระบวนการคัดเลือก สว. เสี่ยงต่อการบล็อกโหวตจัดตั้ง (Inorganic Block Vote) แทนที่จะเกิดการแข่งขันกันโดยธรรมชาติระหว่างผู้สมัครแต่ละคน กติกาปัจจุบันเอื้อต่อการทำให้ผู้สมัคร สว.บางคน มีความพยายามจัดตั้งเครือข่ายของตนเองสมัครเข้ามาเป็นผู้สมัครเป็นจำนวนมาก และกระจายไปในทุกกลุ่มอาชีพและทุกอำเภอ-จังหวัด เพื่อให้มาร่วมกันเลือกตนเองไปเป็น สว. ซึ่งนอกจากจะป้องกันได้ยากในเชิงปฏิบัติ แต่ผู้ออกแบบกติกา ต้องรับรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น เพราะหากทุกคนที่สมัครเป็น สว. สมัครเพราะอยากเป็น สว.เองจริงๆ ผู้สมัครทุกคนภายใต้กติกาปัจจุบันก็จะมีแรงจูงใจในการใช้ยุทธศาสตร์เลือกแค่ตัวเอง ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครทุกคนได้คะแนนเท่ากันที่ 1 คะแนน

4. กระบวนการคัดเลือก สว. ยังมีความซับซ้อนและความไม่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหลายด้าน โดยระเบียบ สว. ล่าสุดที่ออกมา ยังไม่สามารถไขข้อสงสัยหรือให้ควาชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ได้ทั้งหมด เช่น 

  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะตรวจสอบคุณสมบัติ (ว่าผู้สมัครมีประสบการณ์ 10 ปีในด้านที่ตนเองสมัคร) โดยใช้เกณฑ์อะไร และจะพิจารณาใบสมัครและข้อโต้แย้งทั้งหมดเรื่องคุณสมบัติทันตามกรอบเวลาหรือไม่ ในเมื่อผู้สมัครอาจมีเป็นหลักแสน และมีระยะเวลาพิจารณาไม่กี่สัปดาห์
  • กกต. จะออกระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องการแนะนำตัว หรือรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครเมื่อไหร่ และระเบียบหรือประกาศดังกล่าวจะเอื้อต่อการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากแค่ไหน
  • กกต. จะอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชนไปร่วมสังเกตการณ์ และตรวจสอบกระบวนการคัดเลือก ณ สถานที่หรือไม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
  • กกต. จะวางกรอบเวลาในการประกาศผลอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่การประกาศผลถูกยืดเวลาออกไปยาวนานจนเปิดช่องให้ สว. 250 คนชุดปัจจุบัน รักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีกำหนด

ในช่วงท้าย นายพริษฐ์ ยังระบุด้วยว่า ทาง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้มีการเชิญ กกต. มาให้ข้อมูลและหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคมนี้ หลังจากที่ กกต. ให้เหตุผลว่าติดภารกิจ และไม่ส่งตัวแทนมาชี้แจงในการประชุมวันพฤหัสบดีที่แล้ว.