นายกฯ ใช้พื้นที่สภาฯ ระหว่างรอการพิจารณางบประมาณ 67 หารือหลายวง ทั้งบ้านพักทหาร-ตำรวจ ก่อนคุยทูตตุรกี ยกระดับความสัมพันธ์และการค้าการลงทุน พร้อมสั่งการ รมว.อุตฯ ปมได้รับร้องเรียนขอใบ รง.4 ล่าช้า

เมื่อเวลา 14.33 น. วันที่ 22 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ภาพขณะหารือกับหน่วยงานราชการ ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระที่ 2 พร้อมข้อความระบุว่า หลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบ้านพักข้าราชการ วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะสามารถจัดสรรที่พักให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ ประมาณ 688 ครอบครัว ภายใน 1 ปี

สำหรับทหารเรือ จะเป็นแฟลตขนาด 32 ครอบครัว ใน 2 ที่ คือ แผนกราชพิธีกองเรือเล็ก อรุณอมรินทร์ และแฟลตขนาด 32 ครอบครัว พื้นที่โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ ในส่วนของแฟลตตำรวจ จะเป็นแฟลตสำหรับ 126 ครอบครัว ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่ของทหารอากาศ จะเป็นแฟลตสำหรับ 80 ครอบครัว ในพื้นที่ทหารอากาศ ท่าดินแดง เขต 2 และทหารบก จะเป็นบ้านพักและแฟลตสำหรับ 418 ครอบครัว ที่มณฑลทหารบกที่ 24 อุดรธานี และกรุงเทพฯ

“ผมเชื่อว่าหากข้าราชการมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ”

...

ขณะที่เวลา 15.05 น. นายเศรษฐา ยังได้หารือในวงต่อไป หลังที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากภาคธุรกิจและนักลงทุนว่ามีความล่าช้าในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่ค้างพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ช่วยเร่งรัดในกระบวนการขออนุญาต เพราะมีหลายขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และบางขั้นตอนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดคอร์รัปชันได้ โดยขอให้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งจากนักลงทุนภายในประเทศ และจากต่างประเทศ ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง ease of doing business

จากนั้นเวลา 15.42 น. นายกรัฐมนตรี หารือกับ Mrs.Serap Ersoy เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงการยกระดับความสัมพันธ์และการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมเผยว่า ตนได้รับทาบทามให้มีการเยือนอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ เพื่อส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยถึงกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง การประกอบเรือ และระบบเทคโนโลยีในการนำทาง (Navigation System) ที่ทางตุรกีมีความเชี่ยวชาญ และสามารถส่งเสริมให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างกันได้ 

“สุดท้าย ผมยังได้ขอให้มีการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางอิสตันบูล-กรุงเทพฯ เพื่อต่อเครื่องไปยังซิดนีย์ ซึ่งเป็นปลายทางที่มีความต้องการสูง ทั้งนี้ ผมได้ส่งไม้ต่อเรื่องดังกล่าวให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปประสานดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทำให้ประเทศไทยเป็น Transit Hub ของสายการบินในภูมิภาคเอเชียเรียบร้อยครับ”