"สภาผู้บริโภค" บุกสภาฯ ร้องเอาผิด กสทช.ไม่ทำหน้าที่ จี้ ค่าบริการมือถือ ค่าเน็ตบ้าน ตามเงื่อนไข ส่วน กมธ.สื่อสารโทรคมนาคมฯ รับลูกติดตามเรื่อง ขณะรอง ปธ.กมธ.ย้ำ กสทช.ต้องแจงให้คำตอบสังคม

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎรและคณะ รับยื่นร้องเรียนจาก น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค โดย น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า มายื่นเรื่องเพื่อให้ตรวจสอบการละเลยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บอร์ดแบรนด์ จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 90 วัน แต่ กสทช.ยังไม่มีการดำเนินการ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อีกทั้ง กสทช.ยังไม่กำกับดูแลให้ลดราคาค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านตามเงื่อนไข ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะนำและยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กสทช. เพื่อให้พิจารณาทบทวน และยกเลิกการรวมธุรกิจของกิจการโทรคมนาคมที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด

...

“อีกทั้งจะขอให้พิจารณาจัดทำมติเรื่องการปรับลดราคาค่าบริการ พื้นฐานร้อยละ 12 ตามมาตรการที่กำหนด โดยให้ลดค่าอินเทอร์เน็ตจาก 0.16 บาท เป็น 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ หรือค่าโทรศัพท์จาก 0.60 บาท เป็น 0.52 บาทต่อนาที ให้กำกับการทำหน้าที่ของ กสทช.อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนสูงสุด ส่วนข้อเสนอแนะต่อ กสทช. คือ ขอให้เปิดเผยรายงานผลประกอบธุรกิจของผู้รวมธุรกิจทั้งสองกรณีที่จัดส่งให้แก่ กสทช. ทุก 6 เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งให้สํารวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ เช่น การถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เร่งรัดผู้ให้บริการต้องลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ให้เร่งรัดดำเนินการให้มีการเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษ สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม และให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของบริการให้ไม่ต่ำกว่าเดิม นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวจะมีข้อเสนอแนะต่อ กสทช.และสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้พิจารณา กำหนดนโยบายการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับการแข่งขันของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ NT เพื่อเป็นทางเลือกกับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคจะยื่นข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และสำนักงาน กสทช.ต่อไปด้วย” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า คณะ กมธ.เห็นถึงปัญหานี้เช่นเดียวกันกับสภาผู้บริโภค และเคยร่วมกันหารือถึงปัญหานี้มาในหลายเวที เพื่อหาทางออกร่วมกัน ถึงเวลาที่จะเอาปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมขึ้นมามีพื้นที่พูดคุยกัน ณ ที่นี้ ทุกคนรับทราบปัญหานี้ร่วมกัน และปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยต้องย้อนไปดูถึงต้นตอของปัญหาในโครงสร้างของ กสทช. ที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังทุกๆ ภาคส่วน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาชน รวมถึงข้าราชการที่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องรับฟังคำแนะนำของพวกเราอย่างจริงใจ คณะ กมธ.จะได้ติดตามเรื่องนี้จริงจัง โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาชี้แจง ขอย้ำว่า ปัญหานี้จะไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ ถ้าไม่ได้รับความจริงใจจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยได้รับสิทธิ์ในการใช้บริการกับภาครัฐให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญคือมีความยุติธรรมที่สุด เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด กมธ.จะร่วมมือกันเพื่อให้ทุกคนได้รับความพอใจอย่างสูงสุดได้ หากมีความคืบหน้าประการใด จะรายงานให้สภาผู้บริโภคทราบ และจะเชิญเข้าร่วมการประชุมกับคณะ กมธ.ในโอกาสต่อไป

ขณะที่ นายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง กล่าวว่า จากการเชิญ กสทช.เข้ามาประชุมร่วมกับคณะ กมธ. 2 ครั้ง เรายังไม่ได้ข้อสรุปจากหน่วยงานนี้ กมธ.จึงฝากให้ไปหาคำตอบมาให้ได้ และจะทำการเชิญหน่วยงานนี้อีกครั้ง โดยจะนำรายงานที่สภาผู้บริโภคมายื่นไปประกอบการพิจารณาด้วยในครั้งถัดไป