"ปกรณ์วุฒิ" สส.ก้าวไกล อภิปรายงบ ก.ดิจิทัลฯ ขอตัดงบ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ทั้งโครงการ 69 ล้าน เหตุไร้ประสิทธิภาพ-ความเป็นกลาง พบหลายกรณีตรวจสอบแล้วเป็นข่าวจริง แต่ไม่เผยแพร่ เหตุไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล 

วันที่ 21 มี.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 16 (งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในส่วนของโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” โดยขอตัดงบประมาณทั้งโครงการจำนวน 69.57 ล้านบาท

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้รับข้อมูลสำหรับการตรวจสอบทั้งหมด 5.47 ล้านข้อความ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้เครื่องมือกวาดข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และมีบางส่วนได้มาจากการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ เช่น เฟซบุ๊กและไลน์ จาก 5.47 ล้านข้อความ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้คัดกรองจนเหลือจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งสิ้น 539 เรื่อง จากนั้นจึงส่งเรื่องไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายได้รับการตรวจสอบกลับมา 356 เรื่อง แต่สามารถ “เผยแพร่ได้” เพียง 235 เรื่องเท่านั้น โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแบ่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้แต่ไม่ได้เผยแพร่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2) หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ และ 3) หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

...

สำหรับกลุ่มที่ 1) และกลุ่มที่ 2) มีความคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ข่าวที่ปรากฏออกมาว่าบริษัทที่รับงานจาก กสทช. มีลักษณะเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ และไม่มีเว็บไซต์ของบริษัท ศูนย์ฯ ส่งข้อมูลไปตรวจสอบที่ กสทช.และ กสทช.ได้ตอบกลับมาว่า “ไม่สามารถชี้แจงได้” โดยไม่ระบุเหตุผล แล้วศูนย์ฯ ก็ไม่คิดที่จะติดตามถามซ้ำกลับไปอีกรอบ

ตัวอย่างที่สอง คือ ข่าวที่ปรากฏออกมาว่าผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเดือนกันยายนนี้ เตรียมรับเงินสูงสุด 1,900 บาท สามารถกดเป็นเงินสดได้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมส่งข้อมูลไปสอบถามกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง แต่หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ โดยแจ้งว่า “เพื่อความชัดเจนและถูกต้อง รบกวนสอบถามกระทรวงการคลัง” กลายเป็นว่ากระทรวงการคลังบอกให้ไปถามกระทรวงการคลัง แล้วศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ปิดเคสไปเลย สมชื่อโครงการ “ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม” คือแค่ประสานงาน แต่ไม่ติดตาม ไม่ทวงถาม ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ข่าวที่ว่า ครม.มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกหนึ่งเดือน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบไปยังกรมประชาสัมพันธ์ และได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะไม่มีข้อมูล แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงคือเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ว่า มีการประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกหนึ่งเดือนจริง เป็นข่าวที่หาได้ทั่วไป แต่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกลับไม่สามารถตรวจสอบได้

ปกรณ์วุฒิ อภิปรายต่อไปว่า ตนสงสัยมาตลอด 4 ปีว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงเลือกที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ทั้งที่บางเรื่องก็เป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไป แต่ก็สิ้นสงสัยหลังจากได้ดูเนื้อหากลุ่มที่ 3) คือข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

ตามหลักสากล หลักการที่สำคัญที่สุดขององค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงก็คือความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ย้ำมาตลอดว่า ตัวเองตรวจสอบอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ แต่เมื่อลองมาดูตัวอย่างข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่สักสองตัวอย่าง ก็จะเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ได้มีความเป็นอิสระจริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลเท่านั้น

ตัวอย่างแรก จากข่าวที่ปรากฏออกมาว่า ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท จริงหรือไม่ เมื่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบไปที่กรมประชาสัมพันธ์ กลับได้รับคำชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น “ข่าวจริง” แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะ “ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล”

ตัวอย่างถัดไป จากข่าวที่ว่าทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์ 8 เส้น ราคา 3.4 ล้านบาท กรมประชาสัมพันธ์ก็บอกว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น “ข่าวจริง” แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะ “ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล” อีกเช่นกัน

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้ตนหายสงสัย ว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา การส่งเรื่องไปให้หน่วยงานราชการไม่ใช่การขอให้ตรวจสอบ แต่มันคือการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะยอมให้เผยแพร่หรือไม่ หน่วยงานว่าอย่างไร ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็มีหน้าที่แค่ทำไปตามนั้น

“นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าตลอด 4 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ก่อตั้งมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่เคยมีความเป็นอิสระ เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น และผมยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว...