"โรม-กัณวีร์-จุลพงศ์" ร่วมกันรับยื่นข้อเรียกร้องไปยัง รัฐบาลไทย ให้ปล่อยตัว ผู้ลี้ภัย "ชาวอุยกูร์" ถูกกักในห้องกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยาวนานกว่า 10 ปี เร่งหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันที่ 14 มี.ค. เมื่อเวลา 09.00 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย นายจุลพงศ์ อยู่เกษ รองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง และ นายกัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมกันรับยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ยาวนานกว่า 10 ปี และหาทางออกที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน จากตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เพื่อขอเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การกำกับของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ต่อกรณีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ที่ถูกกักขังอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลา 10 ปี และหาทางออกที่ยั่งยืนต่อกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อส่งเสริมการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการสากลในสถานการณ์มนุษยธรรมนี้

...

ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 ทางการไทยได้พบชาวอุยกูร์ประมาณ 350 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงและเด็กด้วย โดยคนกลุ่มนี้หลบหนีมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาในประเทศไทยเพื่อเป็นทางผ่านในการลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม และไม่ได้ประสงค์จะอยู่อาศัยในประเทศไทยระยะยาว หลังจากที่ได้มีการดำเนินคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางการไทยได้จำแนกชาวอุยกูร์กลุ่มนี้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มแรก เฉพาะผู้หญิงและเด็ก 172 คน กลุ่มนี้ได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปประเทศตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 58 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ ซึ่งมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กให้กับรัฐบาลตุรกี และปัจจุบันได้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตุรกีเรียบร้อยแล้ว

2) กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยได้ส่งให้สาธารณรัฐประชาชนจีน 109 คน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 โดยทั้งหมดนี้ไม่ทราบชะตากรรม

3) กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่คงค้างในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จำนวนประมาณ 48 คน ที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย รัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้กักตัวไว้ในห้องกักคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่มีกำหนด และอ้างว่ากำลังรอการแก้ไขปัญหาต่อไป ปัจจุบันกลุ่มที่สาม ได้ถูกกักเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในห้องกักมีสภาพแออัด เข้าถึงแสงธรรมชาติได้น้อย ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ไม่สามารถติดต่อครอบครัวภายนอกได้ ทำให้ผู้ต้องกักมีภาวะขาดสารอาหาร ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย เป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิตที่รุนแรงได้

ในปี 2566 มีชาวอุยกูร์ซึ่งอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสียชีวิต 2 คน โดยคนแรกเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 66 ผู้เสียชีวิต อายุ 49 ปี มีอาการเจ็บป่วยในห้องกัก ก่อนที่จะถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันเดียวกัน อันเนื่องมาจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ส่วนรายที่สองเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 66 ผู้เสียชีวิตอายุ 40 ปี มีอาการป่วย อาเจียน และอ่อนแรง ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันเดียวกันเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว แม้ว่าการตรวจสอบกรณีเสียชีวิตทั้งสองกรณีข้างต้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตทั้งสองกรณีเกิดขึ้นจากการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ตาม กสม.ได้ให้ความเห็นว่า การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดปล่อยตัว หรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณายุติการกักขังชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนด ในสภาพการกักขังที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ ตามข้อเสนอแนะของ กสม. และขอให้แสดงจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อประชาคมโลก เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทย ได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนี้ และเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลไทย และขอให้ทั้ง 3 คณะ กมธ.ร่วมกันผลักดันประเด็นดังกล่าว และประสานงานไปยังรัฐบาลให้ช่วยพิจารณาต่อไป

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กมธ.ให้ความสำคัญ และได้เคยมีการพูดคุยถึงความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ที่อยู่ในห้องขัง ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ ในสภาชุดที่แล้วที่ตนทำหน้าที่ในคณะ กมธ.การกฎหมายฯ เคยไปที่ห้องขังและเห็นสภาพความเป็นอยู่ ความยากลำบากแล้ว และเราไม่รู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะต้องอยู่ในห้องกักถึงเมื่อไร ซึ่งไม่ต่างกับการที่ต้องอยู่ในคุกตลอดชีวิต โดยไม่มีคำพิพากษาว่ามีการกระทำความผิดอะไร ไม่มีโอกาสได้รับการลดหย่อนโทษ ไม่มีโอกาสได้เยี่ยม ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ยิ่งกว่าคนที่กระทำอาชญากรรมร้ายแรง ดังนั้น ตนคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าพิจารณาจากข้อกฎหมายที่มี เจ้าหน้าที่รัฐมีความสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติตามกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่สภารับหลักการไป ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักการในเรื่องของการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สุดแล้วตนคิดว่าเราต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ จะปล่อยไปเรื่อยๆ โดยคิดแค่ว่าอย่าเพิ่งไปยุ่ง เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะทยอยเสียชีวิตไป หากในวันนี้ประเทศไทยจะเป็นบอร์ดสิทธิมนุษยชนในเวทีระดับโลก แต่ยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ การเป็นบอร์ดในเวทีโลกก็จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ มากไปกว่านั้นที่ต้องคิดต่อในประเด็นความเป็นมนุษย์ต่อมนุษย์ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ให้ความสำคัญกับศีลธรรม แต่วันนี้เรากำลังกักขังคนที่ไม่มีความผิดตลอดชีวิต เรื่องนี้มีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยกับประเทศต่างๆ มีผลประโยชน์ร่วมกันด้านอื่นๆ เยอะมาก ถ้าเฉพาะเรื่องนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถึงที่สุดแล้วประเทศไทยต้องวางหลักการที่สำคัญ ว่าเป็นประเทศที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเคารพกฎหมายในประเทศ คือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร ประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยต้องเคารพกฎหมาย และหลักการสำคัญที่ประเทศไทยให้คุณค่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องหาทางออกให้ได้

ด้าน นายจุลพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะ กมธ.การต่างประเทศ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ที่จะปฏิบัติต่อกัน
จากนั้น นายกัณวีร์ กล่าวขอบคุณภาคประชาสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ตนได้เห็นกลุ่มชาวอุยกูร์ที่สงขลา แต่ปัจจุบันพี่น้องชาวอุยกูร์ยังถูกกักอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้เป็นสุญญากาศทางกฎหมายที่ไม่มีการรองรับเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย กมธ.การกฎหมายฯ จะพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ว่ามีช่องว่างตรงไหนบ้าง จะแก้ไขตรงไหนบ้าง และจะผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับทั้ง 2 กมธ.ต่อไป