รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เผย รู้สึกสะเทือนใจ สายการบินปฏิเสธคนพิการวีลแชร์ขึ้นเครื่อง พร้อมให้เหตุผลเป็นเพราะเดินเองไม่ได้ จี้ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถกในคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติ
วันที่ 13 มี.ค. 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนประเด็นสายการบินละเมิดสิทธิการเดินทาง และขอความร่วมมือ ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเดินทางที่เท่ากันอย่างแท้จริง จากนายกฤษณะ ละไล ในฐานะผู้แทนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวลที่ระบุตามที่มีข่าว สายการบินไทยแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้โดยสารที่มีความบกพร่องร่างกายนั่งวีลแชร์ โดยให้เหตุผลว่าเดินเองไม่ได้ นั้น ทำให้ตนมีความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งได้มีโอกาสทำงานกับพี่น้องคนพิการ ถึงแม้ว่าจะเข้ามาทำงานเพียง 6 เดือน แต่ว่าครอบครัวศิลปอาชา และในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องคนพิการมาตั้งแต่สมัยพ่อบรรหารยังอยู่ แล้วได้พยายามจะแก้ไขปัญหาจนวันนี้ที่พ่อบรรหารจากไป 8 ปีแล้ว ปัญหายังแก้ไม่หมด เมื่อตนมารับไม้ต่อ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยของเราเป็นสังคมสูงอายุเรียบร้อยแล้วนั้น การที่เราจะต้องมีสาธารณูปโภคและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายให้กับทุกๆ คน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลสำคัญที่สุดคือ ทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใครในที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด อายุใด เพศสภาพใด หรือแม้แต่สถานะใด สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ตนเร่งให้อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม แม่แจ่มใส ศิลปอาชา อายุ 90 ปีแล้ว เวลาไปไหน จำเป็นต้องมีรถเข็นเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ต้องบอกว่าไม่เกิดกับตัว ย่อมไม่รู้อย่างเด็ดขาด วันนี้เราเป็นคนปกติ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เราจะกลายเป็นคนพิการ ต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราไม่เคยรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งตนเคยมีโอกาสทดลองนั่งรถเข็น แล้วรู้เลยว่า แต่ละก้าวที่พี่ๆ คนพิการแต่ละคนออกมาจากบ้านในแต่ละวันนั้น คือการผจญภัย คือความเสี่ยงภัย คือความไม่รู้เลยว่า เราจะได้การตอบรับ จะได้รับการปฏิบัติเช่นใด
...
นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอบคุณคุณกฤษนะ ละไล ต้องขอบคุณพี่ๆ ทุกๆ คนที่มา แล้วเราจะมาช่วยกัน ตนจะดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจของกระทรวง พม. นอกจากเรื่องเครื่องบินขนส่งมวลชนต่างๆ แล้ว ยังต้องรวมไปถึงสถานที่ต่างๆ การให้บริการต่างๆ ของภาครัฐ สถานที่ ทางลาด รวมถึงทางของพี่น้องคนตาบอดด้วยเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดประเทศไทยนั้น นอกจากจะเป็นอิกไนต์ ไทยแลนด์ (Ignite Thailand) แล้ว ยังต้องเป็น Accessible Thailand ที่พี่น้องประชาชนทุกคนควรจะต้องสามารถไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ อีกไม่นานจะเต็มไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่จะต้องใช้รถเข็น ซึ่งวันนั้นที่ผมไปกับคุณกฤษณะ มีคุณพี่คนพิการคนหนึ่งบอกว่า ถ้ารถเข็นไปได้ คนตาบอดก็ไปได้ คุณกฤษณะได้เสริมอีกว่า ถ้ารถเข็นไปได้ คนตาบอดก็ไปได้ คนสูงอายุก็ไปได้ ถึงได้เป็นที่มาของคำว่า อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เพราะฉะนั้นวันนี้ เราจะมาช่วยกัน ทำให้ประเทศไทยของเรานั้นเป็นสังคมที่น่าอยู่ ตอบการแก้ปัญหาสังคม ไม่ใช่เฉพาะแค่พี่น้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะทำให้สังคมของเราน่าอยู่ขึ้น พวกเราชาว พม. เรามี ปลัดกระทรวง พม. อธิบดี พก. และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เราจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ในทุกๆ มิติ เพราะว่างาน พม. จะทำให้สังคมน่าอยู่ได้นั้น ไม่ใช่ดูแลคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราต้องมาเสริมสร้างศักยภาพด้วยกัน