นายกฯ หารือทวิภาคี นายกฯ ออสเตรเลีย สานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน มุ่งผลักดันการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

วันที่ 5 มีนาคม 2567 เมื่อเวลา 11.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ Melbourne Convention and Exhibition Center (MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกฯ ยินดีที่ได้พบ นายกฯ ออสเตรเลียอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2566 รวมถึงยังเป็นโอกาสในการต่อยอดจากการเยือนประเทศไทยของพลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนายกฯ ได้กล่าวเชิญนายกฯ ออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมาเยือนจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ด้าน นายกฯ ออสเตรเลียเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่ดีร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของออสเตรเลีย

...

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึงร้อยละ 186 โดยจะปรับปรุงความตกลงฯ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯ ได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MOU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯ ยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา

ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และ พัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ขณะที่ด้านแรงงาน นายกฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่องหรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้

ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกฯ กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค