11 พ.ค.67...วันสุดท้าย
วุฒิสมาชิก 250 คนอันเป็นผลผลิตจาก คสช. เพื่อต่อท่ออำนาจให้ยืนยาวออกไปด้วยมิติ 5 ปีต้องพ้นจากตำแหน่ง
พร้อมๆกับอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
บทเฉพาะกาลนี้ห่วงท้ายรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันที่บรรดานักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นกลไกสำคัญของอำนาจเผด็จการซึ่งกำลังมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขอยู่
ฤทธิ์เดชของวุฒิสมาชิกชุดนี้ก็คือการปิดประตูไม่ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแห่ง “ก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับ 1
พลาดเก้าอี้สำคัญและไม่ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล
เป็นผลให้ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตจาก “เพื่อไทย” คว้าไปกินพร้อมกับเป็นแกนนำรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง
ประเด็นที่ยกขึ้นเป็นเหตุผลก็คือ ม.112
เมื่อ สว.ชุดนี้หมดวาระ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าให้ทำหน้าที่รักษาการแทนไปจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ชุดใหม่จะมี 200 คนมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกันหรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม
มีอายุ 5 ปีนับแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง
อำนาจหน้าที่คือ 1.พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย พ.ร.บ. พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา
3.ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
สรุปก็คือมีอำนาจทุกอย่างเว้นแต่การร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
...
ทั้งนี้ได้มีการแบ่งผู้สมัครเป็น สว.ออกเป็น 20 กลุ่ม ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ กกต.กำหนดทุกประการ
ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ไม่สามารถสมัครได้ เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ผู้สมัครไม่สามารถสมัครหลายกลุ่มได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว
การคัดเลือกจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับอำเภอ 2.ระดับจังหวัด 3.ระดับประเทศ ซึ่ง กกต.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้หมดแล้ว
เหล่านี้เป็นดีไซน์จากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คงไว้ซึ่งการมี สว.ซึ่งจะทำหน้าที่คู่กับ สส.เป็นสภาคู่
เพียงแต่ปิดประตูไม่ให้นักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ได้หากคุณสมบัติไม่ครบตามที่กำหนด
ขณะนี้เท่าที่ทราบมีผู้ยื่นความจำนงที่จะสมัครเพื่อทำหน้าที่ สว.แล้วกว่า 2 แสนคน อันแสดงว่ามีผู้ประสงค์จะทำหน้าที่นี้ไม่น้อยทีเดียว
ว่าไปแล้ว ส.ว.นั้นตามที่กำหนดอำนาจและหน้าที่นั้นถือว่ามีบทบาทไม่ธรรมดาโดยเฉพาะการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ
ที่เป็นกลไกอำนาจทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก
แน่นอนว่าพรรคการเมืองต่างๆคงต้องหาวิธีการที่จะส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ สว.จำนวนหนึ่งที่จะเป็นพลังเสริมอำนาจทางการเมือง
แต่ที่ปลอดโล่งที่สุดคือการไม่มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี!
สายล่อฟ้า
คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม