“นายกฯ เศรษฐา” ประกาศเป้าเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ชี้ ศักยภาพประเทศไทยพร้อมมาก สั่งการหลายด้านต้องดีขึ้น อย่างเร็วใน 6 เดือน ลั่น สนามบินสุวรรณภูมิ ต้องกลับมาติดท็อป 20 ของโลกใน 5 ปีให้ได้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งว่า ตนเองและรัฐบาลเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดึงศักยภาพออกมาให้ทั่วโลกได้รับรู้ แต่ก่อนจะดำเนินการทำอะไร ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาอะไร ถ้าเราไม่ยอมรับปัญหาก็ไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศไทยได้ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการพูดทำให้ใครรู้สึกไม่ดี แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดคุยความจริงต่อหน้าสาธารณะ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในปี 2554 สนามบินสุวรรณภูมิ เคยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก แต่ในปัจจุบันกลับตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก รัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดบินเสรีการบินอาเซียน โดยการประกาศวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งกำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 

...

สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิใน พื้นที่กว่า 20,000 ไร่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้ AOT เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีภายในระยะเวลา 6 เดือน และในปี 2567 เตรียมจะเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 จะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567 หรือเร็วกว่านั้น จะทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนจะก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี รวมถึงมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี และแผนจะก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมงด้วย 

ในเรื่องขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะต้องปรับปรุงให้มีความคล่องตัว รวดเร็วมากกว่านี้ และต้องแก้ไขปัญหาได้ภายใน 6 เดือน รวมถึงการเปิดเช็กอิน-โหลดสัมภาระแบบอัตโนมัติ โดยให้เพิ่มการเปิดเช็กอินและโหลดสัมภาระก่อนเครื่องบินจะขึ้น 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถช็อปปิ้งได้โดยไม่ต้องกังวล พร้อมกันนี้ จะมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการภาคพื้นดินมากขึ้น โดยมีการคัดเลือกบริษัท มีตัวชี้วัดการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงลดระดับบริษัทที่ให้บริการไม่ดี 

“มั่นใจว่า 6 เดือนจากนี้ จะมีการให้บริการที่รวดเร็ว สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงขั้นตอนการถ่ายสินค้าต้องเชื่อมโยง รวดเร็ว สะดวกขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยจะต้องทำให้ก้าวแรกที่ก้าวเข้ามาสู่ประเทศไทยของผู้โดยสารเกิดความประทับใจ”

ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยนสนามบินให้เป็นสนามบินแบบ Point to Point มีจุดเด่นให้บริการเข้า-ออกได้เร็วขึ้น ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 ผ่านการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม และจะขยายอาคาร 1 และอาคาร 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคนต่อปี และจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี อีกทั้งมีแผนจะก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นที่พื้นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ให้เป็นแหล่งจัดแสดงสินค้าโอทอปและจำหน่ายสินค้าโอทอป พัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่จอดรถได้มากถึง 7,600 คัน จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชนอีกด้วย เป็นเมนหลักในการจัดแสดงสินค้าโอทอปตามนโยบายของรัฐบาล

ทางด้านท่าอากาศยานภูเก็ต นายเศรษฐา ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง และจะพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับจำนวนรถให้ได้มากขึ้น และให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจะพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 และกำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น-ลงในทะเล รองรับผู้โดยสารชั้นสูง เชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน เป็นต้น ส่วนท่าอากาศยานอันดามันที่มีแผนจะสร้างขึ้น จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะขอเรียกว่าสนามบินล้านนา เพราะรองรับประชาชนจังหวัดใกล้เคียงเชียงใหม่ด้วย รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมได้เพียง 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2572 รวมทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี และจะเป็น Homebase ของสายการบิน อย่าง Thai VietJet เป็นต้น อีกทั้ง ตั้งแต่มีการปลดล็อกให้มีการบินขึ้นลงได้หลังเที่ยงคืน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ สนามบินเมืองรองต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับเมืองหลัก ให้เมืองรองกลางเป็นเมืองหลักให้ได้ รวมทั้งการใช้สนามบินร่วมกับกองทัพ ซึ่งปัจจุบันต้องใช้ความมั่นคงควบคู่กับความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลจะยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวของโลก ผ่านการผลิตอาหารให้กับสายการบินต่างๆ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไทย นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสู่อาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก 

“การเดินทางไปเยอรมันสัปดาห์หน้าเพื่อร่วมงานส่งเสริมการท่องเที่ยวไอทีบี (ITB Berlin 2024) ผมจะไปอธิบายให้ฟังทั้งหมดว่าประเทศไทยมีเรื่องดีๆอะไรบ้าง แต่เป็นแค่ออร์เดิร์ฟไปโฆษณาว่าปีหน้าเราจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผมรับรองได้ว่าเขาจะต้องชอบและพอใจ และจะเดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น” 

สำหรับสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน การพัฒนาต่อไปจะไปไม่ได้ถ้าสายการบินไทยไม่แข็งแรง ต้องมีการบริหารให้เหมาะสม ทั้งลักษณะเครื่องบิน จะต้องมีการพัฒนาระบบตั๋วที่หลายประเทศใช้ระบบออนไลน์ วันนี้เราต้องพูดตรงไปตรงมาว่าการบินไทยมีตัวแทนขายตั๋วเยอะ เขามีการกั๊กตั๋ว วันนี้ไม่ได้มาว่ากัน เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หลายสายการบินใช้การจองตั๋วออนไลน์มาบริหารราคาตั๋วเพื่อสร้างกำไร ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญ เข้าใจอย่างตรงจุด เรื่องเหล่านี้เราคาดหวังว่าการบินไทยต้องทำได้ และการจัดตารางไฟลต์ต้องมาพูดกัน เราทราบกันดีการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังจากเกิดโควิด-19 ในวันนี้รักษาตัวเองให้ดี หากหลุดพ้นจากแผนฟื้นฟูแล้วเรามาให้น้ำใจผู้โดยสารทุกคนที่ให้ความเชื่อมั่นเรา เราต้องมีความทะเยอทะยานให้การบินไทยติดอันดับโลก อย่างน้อยต้องติดอันดับ 3 ของเอเชีย คนไทยต้องภาคภูมิใจ

อีกทั้งการที่ตนแอบไปตรวจระบบการตรวจคนเข้าเมือง ไม่ได้จ้องจับผิด แต่เพื่อให้เห็นการทำงาน ไม่ได้ดูแค่หน้างาน แต่ดูหลังบ้านด้วย และมีการพูดคุยเรื่องการบริหารคนให้เขามีจิตใจที่ดีขึ้น ให้เขาเกิดความตั้งใจในการทำงาน คิดว่าความสุขเป็นอะไรที่ส่งต่อกันได้ เริ่มต้นจากผู้ให้บริการ ถ้ามีความสุขเวลาส่งต่อการให้บริการผู้โดยสารก็จะส่งต่อความสุขนั้นได้ ความสุขเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ดี หลายท่านอาจถามว่าอะไรคือประโยชน์ของศูนย์การบิน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคิดว่าคงจะเห็นในเรื่องเศรษฐกิจที่พยายามพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งวันนี้เราจะต้องเอาชนะให้ได้ หากเราโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างมโหฬาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยากสนับสนุนให้การบินมีเพิ่มมากขึ้น 

“หลายท่านที่มาเห็นการบริการที่ประทับใจก็จะเห็นออร์เดิร์ฟให้กับเขาว่าในปีหน้าอาจจะอยากมาเที่ยวที่ไทย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างความยั่งยืนดึงดูดสายการบิน และส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมีแผนจะขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคนทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และจะร่วมกันพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ ไปพร้อมๆ กับสร้างความยั่งยืนผ่านการดึงดูดสายการบินด้วยเชื้อเพลิง SAF และส่งเสริมการผลิตในประเทศ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน จะต้องยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายในระยะเวลา 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นความฝันที่ต้องการให้เป็นจริง วันนี้ผมขอประกาศว่า เราตื่นจากความฝันแล้ว ขอให้ทุกคนตื่นมาร่วมกันพัฒนาให้ความฝันเป็นจริง ทุกคนมีส่วนร่วมทำฝันให้เป็นจริง ขอให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนช่วยดึงศักยภาพ ช่วยกันทำความฝันให้เป็นจริง”