โดยปกติในอดีตที่ผ่านๆมา ถ้าจะมีประกาศยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง ของคณะรัฐประหาร ประชาชนมักจะชื่นชมยินดี แต่คราวนี้รู้สึกว่าจะหงอยเหงา หรืออย่างน้อยก็รู้สึกเฉยๆเป็นส่วนใหญ่ เมื่อรัฐบาลประกาศจะยกเลิกคำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหาร คสช.กว่า 100 ฉบับ จะเข้าสู่สภาในเดือนเมษายน

ตัวอย่างหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ถูกยกเลิก และทำให้ประชาชนดีอกดีใจในอดีต เช่น ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ที่คณะรัฐประหารใช้ปิดปาก ปิดหู ปิดตา หนังสือพิมพ์ และประชาชนนานนับสิบปี ทั้งสองฉบับล้วนถูกยกเลิกโดยรัฐบาลเลือกตั้ง

ส่วนการยกเลิกคำสั่งและประกาศของ คสช. เริ่มเป็นข่าวตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จะยกเลิกโดย พ.ร.บ.ที่ผ่านรัฐสภา 71 ฉบับ อีก 37 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน เหตุที่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ตื่นเต้น เพราะส่วนใหญ่เป็นคำสั่งที่ใช้บริหารราชการของรัฐบาลรัฐประหารที่ยึดแนวทางอำนาจนิยม

มีที่เกี่ยวกับการเมืองอยู่บ้าง เช่นคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 41/2557 เรื่องความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง อีกฉบับหนึ่งที่น่าสนใจคือคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 30/2560 ให้เร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างโครงการรถไฟ ความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา เพราะมีเสียงแซวว่า 3 ปีสร้างได้ 3 กม.

มีกฎหมายอีกหลายฉบับของคณะ คสช. ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐบาลสัญญาว่าจะทำใหม่ให้เสร็จภายใน 4 ปี มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการชุมนุมไม่ชอบ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาด แต่เจ้าหน้าที่ชอบใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ ใช้โดยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2548 เพื่อดับไฟในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลุกลาม บานปลายกลายเป็นสงครามย่อย โดยปกติใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐบาล คสช.ประกาศใช้ทั่วประเทศ รวมทั้ง กทม. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด แต่ฝ่ายตำรวจกลับนำไปใช้ควบคุมการชุมนุมการเมือง

...

พระราชกำหนดที่ออกมาเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย ถูกนำมาใช้ควบคุมการชุมนุม และเป็นที่ชื่นชอบของฝ่ายตำรวจ เพราะให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ในการจับกุมคุมขัง การสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด ทั้งทางอาญาทางแพ่งและทางวินัย ถ้าหากเกิดการ บาดเจ็บล้มตาย นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของนิติธรรมไทย.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม