"ก้าวไกล" รอเคาะ ซักฟอกรัฐบาล หรือ อภิปรายฯ ทั่วไป บี้ "คลัง" เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ต้องรอ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ชงรัฐทำ "คนละครึ่ง" แชร์งบฯ กับ อปท.ฟื้นเศรษฐกิจ แย้ม ปม "ทักษิณ-ที่ ส.ป.ก." รุกป่าอุทยาน ติดโผ ซักฟอก 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเตรียมการอภิปรายรัฐบาล ว่า ทีมงานกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจะตัดสินใจว่า จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือ จะเป็นการอภิปรายทั่วไป กันแน่ แต่เราคงจะใช้เวลาที่เหลือ 1 เดือนให้ตกผลึกว่า จะต้องไปในทางไหนเพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือมาตรา 152 แน่นอน ซึ่งจะต้องตัดสินใจกันอีกครั้ง แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี แม้จะเป็นแค่การอภิปรายแบบไม่ลงมติ ซึ่งจะเป็นการให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำปรับใช้ได้

เมื่อถามว่า ข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่พรรคก้าวไกล มีเพียงพอที่จะอภิปรายหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตอนนี้เราเก็บข้อมูลไปค่อนข้างมาก อาจจะต้องใช้โอกาสที่เร็วกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ อภิปรายทั่วไปด้วยซ้ำ ทั้งนี้ จากตัวเลขที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเราคาดหวังว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ขึ้นมาได้แล้ว ไม่ใช่รอแต่ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ซึ่งแน่นอน เรามีปัญหาว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 อาจจะล่าช้า มาไม่ทัน แต่ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร ก็เร่งทำงานกันอย่างเต็มที่ และวันนี้งบประมาณ ก็มีการพิจารณาเกือบจะเสร็จแล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณา ในวาระ 2 และ 3 ได้เร็วกว่ากำหนดการเดิม ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ด้วยกัน แม้เราจะทำงานในจุดนี้กันอย่างเต็มที่แต่ขณะที่งบประมาณยังไม่ออก ก็ยังมีหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้ได้เลย

...

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ตอนนี้เงินสะสมของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า มีการปลดล็อกให้สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ผ่านการอนุมัติของสภาฯ ท้องถิ่นก็สามารถทำได้เลย แต่ยังไม่มีแรงจูงใจที่จะทำ ทั้งนี้ รัฐส่วนกลาง สามารถให้เขานำเงินออกมาใช้เพื่อทำให้เศรษฐกิจแต่ละท้องถิ่น เศรษฐกิจฐานราก สามารถดำเนินต่อไปได้ให้มีชีวิตชีวากลับคืนมาในระหว่างที่งบประมาณยังไม่ออก ซึ่งเราได้เสนอว่า รัฐบาลควรจะมีมาตรการที่คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง แต่เป็น "คนละครึ่ง" สำหรับท้องถิ่น หากท้องถิ่นจะนำเงินสะสมออกมาใช้ครึ่งหนึ่ง รัฐบาลจะสมทบอีกครึ่ง เพื่อให้เงินจำนวน 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 แสนล้านบาท โดยใช้งบฯกลาง ที่ขณะนี้มีการอนุมัติงบไปพลางก่อน 2 ใน 3 ของปี 2566 ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาท หากนำไปสมทบกับท้องถิ่นจะเป็นมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ประพรมให้เศรษฐกิจในท้องที่มีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอโครงการขนาดใหญ่ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเรายอมรับมานานแล้วว่า เศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อถามย้ำว่า นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจเรื่องการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าไปอยู่ในประเด็นที่จะอภิปรายด้วยหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนคิดว่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะพิจารณาว่าจะนำไปอภิปรายในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ามีความเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานในการปฏิบัติโดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นผู้ต้องขังแบบใด รวมถึงยังมีนโยบายอื่นที่เราคิดว่าน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ส.ป.ก. การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่ถึงตัวรัฐมนตรีแต่อาจจะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่เราคงจะมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและอภิปราย เพื่อแจ้งให้ทางฝ่ายบริหารให้รับทราบและนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตป่าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศที่กำบังเป็นปัญหาขัดแย้งในสองกระทรวงในรัฐบาลนี้ ว่า นายกรัฐมนตรีควรเป็นตัวกลางแก้ไข เนื่องจากปัญหาที่เรื้อรังมาจากหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน และปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะวันแม็ป ที่เรารอคอยมากว่า 10 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีการพูดคุยเพื่อจบปัญหา ไปทีละเรื่อง ไปทีละแปลง แต่หากเรามีวันแม็ปที่จะเป็นแผนที่เดียวทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันก็จะจบและไม่มีปัญหาต่อเนื่อง ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ขณะนี้กำลังรอท่าทีที่เด็ดขาด แน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แต่ยังไม่ค่อยเห็นจากนายกรัฐมนตรี