“เซีย” นำทีม สส.ก้าวไกล แถลงค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ซัด ตั้งใจซ่อนเนื้อร้าย ล้มเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หวัง ครม.ปกป้องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่าถอยหลังลงคลอง
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำทีม สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวคัดค้านกรณีกระทรวงแรงงานเสนอร่างพระราชบัญยัติประกันสังคม ยกเลิกความในพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 8 วรรค 3 ที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะบรรจุในวาระ ครม. เพื่อพิจารณาเร็วๆ นี้
นายเซีย กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่นี้เป็นการซ่อนเนื้อร้าย ทำลายกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เนื่องจากมีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา รวมถึงแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง หรือ บอร์ดประกันสังคม ตนในฐานะผู้แทนสัดส่วนผู้ใช้แรงงาน และพรรคก้าวไกล ขอคัดค้าน และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่มีการแก้ไขที่มาของบอร์ดประกันสังคม เดิมมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรง 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ เปลี่ยนเป็น “หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
ทั้งนี้ ในอดีตการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม มาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน 1 สหภาพแรงงานมี 1 เสียง ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิก 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยมีสหภาพเพียง 1,400 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก และผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการเหล่านั้นไม่ได้มีสิทธิมีเสียงใดทั้งที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ทำให้ที่ผ่านมาแรงงานจำนวนมากพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน คือ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ จนเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 40/2558 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมแทนชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงาน
...
นายเซีย กล่าวต่อไปว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมร่วมกับพี่น้องแรงงาน และเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ก็ได้อภิปรายติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงนั้น นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ว่า สำนักงานประกันสังคมจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงแบบ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ หลังจากชี้แจงแล้วข่าวเรื่องการเลือกตั้งก็หายไปอีก โดยสำนักงานประกันสังคมไม่เคยสื่อสารเรื่องความคืบหน้าใดๆ ให้ผู้ประกันตนรับทราบ
กระทั่ง สุดท้ายมีการจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 และหลังการเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลการอย่างไม่เป็นทางการ ข่าวคราวผู้ชนะเลือกตั้งก็เงียบหายไปอีก จนมีหนังสือรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 แต่ผลกลับปรากฏว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมเหมือนที่ประกาศหลังเลือกตั้ง จึงมีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน นายเซีย ยังได้ตั้งคำถามต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน อ้างเหตุผลว่าใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิไม่ถึง 1 ล้านคน จากผู้ประกันตน 24 ล้านคน ว่า สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์มีปัญหาจริงไหม รวมถึงหน่วยเลือกตั้งที่ไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไรควรนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิม แต่กลับมาแก้ไขกฎหมายถอยหลังลงคลองเพื่อยกเลิกการเลือกตั้ง
“หรือที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง และมีใครได้ประโยชน์อะไรจากระบบแต่งตั้งหรือไม่ วันนี้เมื่อกฎกติกาเดินหน้ามาไกลแล้ว ไม่ควรที่จะดึงถอยหลังไปอีกเหมือนเดิม”
ในช่วงท้าย นายเซีย ย้ำด้วยว่า วันนี้ตน และพรรคก้าวไกลขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว และหวังว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะร่วมคัดค้านเพื่อปกป้องกระบวนการการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงต่อผลการเลือกตั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการ.