โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เชื่อมั่นการทำงานตลอด 6 เดือน เริ่มผลิดอกออกผล เดินหน้าแก้ปัญหาความเดือดร้อน ทำให้ความเป็นอยู่พี่น้องให้ดีขึ้น ย้ำ ปัญหาหนี้สินประชาชนจะต้องจบในรัฐบาลนี้
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสการทำงานของครบ 6 เดือนของการทำงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลได้ประเมินการทำงานที่ผ่านมา พบว่ามีความสำเร็จเห็นเป็นดอกผลจากการทำงานอย่างหนัก วางแผน กำหนดนโยบายด้วยทีมงานที่เข้าใจการทำงาน และเข้าใจชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง จึงเชื่อมั่นว่านโยบายเหล่านี้จะประสบผลสำเร็จ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายในการวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทย กรอบระยะสั้น กระตุ้นการใช้จ่าย ลดหนี้เกษตรกร เพิ่มราคาสินค้าเกษตรเพื่อเกษตรกร ควบคุมสินค้าเถื่อนที่ลักลอบเข้าประเทศไทย เพื่อจุดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโต รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ในส่วนของระยะกลางและระยะยาว คือ เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน พร้อมเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่า ส่วนไหนทำได้ก็จะดำเนินการส่วนนั้นก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระ เพิ่มประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่ม
โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนที่กว่า 2 เดือนที่รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหา โดยตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมียอดผู้ลงทะเบียนมากกว่า 140,000 ราย รวมยอดมูลหนี้กว่า 9,800 ล้านบาท ผลจากการเข้าไกล่เกลี่ยทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท ส่วนหนี้ในระบบ มีความคืบหน้าในทุกกลุ่มลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สินของประชาชนจะต้องจบภายในรัฐบาลนี้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าเต็มพิกัดทุกเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าให้กับประชาชน อาทิ
...
1. ฟื้นระบบ สร้างบรรยากาศการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้เกิดการลงทุนในประเทศเชิงรุกให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่ผ่าน 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่
- 1) ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation)
- 2) พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology Development)
- 3) พัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction)
- 4) ส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment)
- 5) อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)
ควบคู่ไปกับการผลักดัน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดตัวเลขทั้งโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและเงินลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง จำนวนถึง 2,307 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 848,318 ล้านบาท
2. เร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ที่ไทยมี roadmap 26 ฉบับ มีแล้ว 15 ฉบับ (ล่าสุด FTA ไทย-ศรีลังกา) เร่งเจรจาเพิ่ม 11 ฉบับ
3. เพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งเจรจาเพื่อยกระดับหนังสือเดินทางไทย (Passport) ให้สามารถเดินทางได้หลายประเทศ/ดินแดนมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า หรือ Visa Free ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ คาซัคสถาน ไต้หวัน และอินเดีย รวมถึงวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่น 30 วัน และล่าสุดได้ยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน เป็นการถาวร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป สนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะการยกระดับท่าอากาศยานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เต็มศักยภาพ จนทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมประจำเดือนมกราคม 2567 (ทั้งเดือน จำนวน 31 วัน) เพิ่มเป็น 3,035,296 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2566 ถึง 42% ซึ่งในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวจีน เพิ่มเป็น 508,563 คน เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าของปีที่แล้ว (ปี 2566 เดือนมกราคมมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 91,841 คน) คาดว่าจะสร้างรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างมาก ถือเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา
ในช่วงท้าย โฆษกรัฐบาล ระบุด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีดำเนินการทำงานทุกด้านอย่างสอดประสาน ทั้งแก้ปัญหาในประเทศ ดึงปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าทำงานมา 6 เดือน แก้ปัญหาให้ประชาชนทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนเห็นผลสำเร็จบ้างแล้ว โดยมุ่งมั่นจะทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ขณะเดียวกันก็พร้อมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสียงความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดกับพี่น้องประชาชน”