“สุริยะ” สั่งตรวจสอบปมผู้โดยสารโวยค่าตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต แพง ด้าน กพท. ตรวจสอบ ยังไม่พบขายตั๋วเครื่องบินสูงกว่าที่กำหนด พรุ่งนี้เรียกสายการบินในประเทศหารือปรับราคาเพดานลง ไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชน กระตุ้นท่องเที่ยวไทย

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงจากกรณีมีผู้โดยสารบางรายร้องเรียนราคาบัตรโดยสารเครื่องบินในปัจจุบันมีราคาแพง โดยเฉพาะในเส้นทางกรุงเทพฯ–ภูเก็ต ว่า กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว โดยขณะนี้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบและหาแนวทางการแก้ไขทันที เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในวงกว้างตามนโยบายของรัฐบาล

จากการรายงานและการตรวจสอบของ กพท. ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กพท. มีการกำหนดราคาเพดานเพื่อควบคุมราคาขั้นสูง ทั้งในเส้นทางหลักและเส้นทางรอง โดยจำแนกเป็นอัตราสำหรับบริการต้นทุนต่ำและบริการเต็มรูปแบบ ซึ่ง กพท. ได้ตรวจสอบการกำหนดราคาบัตรโดยสารภายในประเทศของทุกสายการบินผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทุกวัน ด้วยการตรวจสอบยืนยันกับสายการบินโดยตรงทุกกรณี และยังไม่พบว่าสายการบินกำหนดราคาบัตรโดยสารสูงกว่าราคาเพดานที่กำหนดแต่อย่างใด

สำหรับราคาเพดานที่กำหนดไว้ เป็นส่วนของราคาบัตรโดยสารสำหรับการเดินทาง (Air Fare) เท่านั้น ไม่ได้รวมค่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และไม่รวมในส่วนที่ผู้โดยสารจะเลือกการบริการเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้เป็นการให้บริการตามความสมัครใจของผู้โดยสารแต่ละท่าน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าประกัน ค่าเลือกที่นั่ง เป็นต้น ยืนยันว่าการควบคุมดูแลด้านราคาของ กพท. ยังคงอยู่ในกรอบมาตรฐานราคาเพดานที่กำหนดไว้

...

นายสุริยะ เผยต่อไปว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างทบทวนการปรับเพดานค่าโดยสาร ซึ่งจะทำให้ราคาตั๋วโดยสารสูงสุดไม่แพงจนเกินไป แม้ว่าจากข้อมูลที่ กพท. รวบรวมจะพบว่าตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพงเป็นเพียงส่วนน้อย เช่น ในเที่ยวบินช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เส้นทางดอนเมือง-ภูเก็ต มีสัดส่วนตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงกว่า 4,000 บาท เพียง 13.8% เป็นต้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าโดยสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการภาคท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชนด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายสุริยะ ระบุว่า ได้สั่งการให้ กพท. ไปหารือกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 กพท. เรียกสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศทุกรายเข้าร่วมประชุมหารือและชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งภายหลังการประชุมและได้ข้อสรุปจากการหารือ รวมถึงแนวทางในการปรับราคาเพดานลงดังกล่าว กพท. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณาอนุมัติ ก่อนนำไปดำเนินการต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กพท. ได้ปรับยกระดับการสื่อสาร เพื่อเพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชนและผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มทั้งช่องทาง ความถี่ของข่าวสาร ความรู้ที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ เช่น การแนะนำให้ผู้โดยสารเลือกซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า รวมทั้งเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินในหลายช่องทาง เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในการเดินทางให้ได้ตั๋วเครื่องบินในราคาที่เหมาะสม เช่น การจองล่วงหน้า, การจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าแบบเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะมีราคาสูงกว่าตั๋วที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่จะมีราคาต่ำกว่าตั๋วเครื่องบินที่ซื้อในเวลากระชั้นชิด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 2567 เป็นช่วงที่มีความต้องการการเดินทางสูง กพท. ขอแนะนำให้ประชาชนที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา จองตั๋วโดยสารล่วงหน้าเพื่อให้ได้ราคาที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด หากจองในช่วงใกล้วันเดินทางค่าโดยสารอาจปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาดได้ โดย กพท. จะทำการตรวจสอบดูแลราคาค่าตั๋วโดยสารอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน

สำหรับข้อมูลของ กพท. ระบุว่า สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีสายการบินภายในประเทศให้บริการจำนวน 6 สายการบิน รวม 92 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ขาไปวันละ 46 เที่ยวบิน และขากลับวันละ 46 เที่ยวบิน ประกอบด้วย 

1. บริการเต็มรูปแบบ มีราคาเพดานต่อเที่ยวอยู่ที่ 9,074 บาท หรือ 13 บาทต่อกิโลเมตร ได้แก่ 

  • สายการบินการบินไทย ให้บริการขาไป 8 เที่ยวบิน ขากลับ 8 เที่ยวเที่ยวบิน
  • สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ขาไป 5 เที่ยวบิน ขากลับ 5 เที่ยวบิน


2. บริการต้นทุนต่ำ มีราคาเพดานเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 6,561 บาท หรือ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ได้แก่ 

  • สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขาไป 16 เที่ยวบิน ขากลับ 16 เที่ยวบิน
  • สายการบินไทยเวียตเจ็ต ขาไป 9 เที่ยวบิน ขากลับ 9 เที่ยวบิน
  • สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ขาไป 5 เที่ยวบิน ขากลับ 5 เที่ยวบิน
  • สายการบินนกแอร์ ขาไป 3 เที่ยวบิน ขากลับ 3 เที่ยวบิน