นโยบายเรือธง ที่พรรคเพื่อไทย ถือเป็นนโยบายสำคัญที่สุดในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ได้แก่ นโยบายแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่เรียกกันง่ายๆว่าโครงการแจกเงินหมื่นให้ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 56 ล้านคน โดยใช้งบ 560,000 ล้านบาท ที่เคยสัญญาจะแจกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่อนาคตชักจะไม่แน่

การประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตชุดใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน ที่เชื่อว่าจะตัดสินใจขั้นเด็ดขาด จะเอาอย่างไรกันแน่ แต่ยังต้องตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอีก โฆษกรัฐบาลแถลงว่าตั้งใจจะทำทุกอย่างให้โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ได้กลับไปเริ่มต้นศึกษากันใหม่

แต่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล วิจารณ์ว่าการประชุม คณะใหญ่ไม่คืบหน้า จะทำได้หรือไม่ อยากให้ตัดสินใจด่วน ควรใช้เวลาทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่กลับไม่ทำอะไรสักอย่าง คำแถลงของนายกรัฐมนตรีเหมือนกลับสู่จุดเริ่มต้น พายเรือในอ่างไม่รู้จบ ความหวังริบหรี่

โครงการเติมเงินหมื่นบาทในดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการแจกเงินครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่มีประเทศไทยเป็นต้นมา แจกให้คนจำนวนมากที่สุดถึง 50-56 ล้านคน และแจกมากที่สุดถึงคนละ 1 หมื่นบาท เปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนที่แจกเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ 14-15 ล้านคน คนละ 200-300 ต่อเดือน

ย้อนหลังไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน ใครมี “เงินหมื่น” ถือเป็นเศรษฐี ใครที่มีเงินเดือนถึงหมื่นบาท เป็นระดับผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนข้าราชการ แม้แต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เงินเดือนไม่ถึงหมื่น เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองที่ “สัญญาจะแจกเงิน” ให้ประชาชนคนละหมื่นบาท จึงสร้างความตื่นเต้น

แต่กลายเป็นปัญหา เมื่อจะต้องทำตามสัญญา เริ่มแรกสัญญาว่าจะใช้งบประมาณประจำปี โดยไม่ต้องกู้เงิน จะแจก 56 ล้านคน แต่ต่อมาต้องปรับเป็นแจกแค่ 50 ล้านคน ไม่แจกคนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 7 หมื่นบาท หรือมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ที่สำคัญที่สุด จะต้องออกกฎหมายกู้เงินเพื่อนำมาแจกถึง 5 แสนล้านบาท

...

แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่นอน จะทำได้หรือไม่ และทำได้เมื่อไหร่ สิ่งที่ทำให้ รัฐบาลกล้าๆ กลัวๆ อยู่ขณะนี้ น่าจะได้แก่คำเตือนของ ป.ป.ช.ว่าอาจนำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย เช่น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อาจซํ้ารอยบทเรียนโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเจ๊งหลายแสนล้านบาท และติดคุกทั้งรัฐมนตรีและนักธุรกิจ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม