วงสัมมนา ความสำคัญองค์กรอิสระ “จรัญ” เผย เคยถูกขู่หนัก หลังสั่งยุบพรรค ลั่น สู้นิติสงคราม ดีกว่าสงครามกลางเมือง ให้ฉุกคิด ต้นตอ สภาทาส อำนาจรวมศูนย์ หากฝ่ายบริหารไม่อยู่กับร่องกับรอย ใครจะกำกับดูแล ยกเลิกหมด กลับสู่ยุคก่อนปี 2540

วันที่ 16 ก.พ. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะกมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา (สว.) จัดสัมมนาหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร” โดยงานจะเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.00 น. มีอดีตตุลาการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก อาทิ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และ พล.ต.อ.วัรชพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นต้น

นายจรัญ กล่าวเสวนาตอนหนึ่ง ว่า ประโยชน์ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ องค์กรอิสระ คือ เวลาที่มีความขัดแย้งเรื่องใหญ่โดยเฉพาะในทางการเมือง ในทางรัฐธรรมนูญ ช่วงที่ตนอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตัดสินคดีขัดแย้งทางการเมืองที่มีเดิมพันสูงมาก ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้มีเดิมพันเยอะๆ แต่เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ให้ฝ่ายที่แพ้สูญสิ้นเลยนะ ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิคณะกรรมการของพรรคการเมือง พอคดีมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ตนไม่เคยนึกว่ามันจะโอ้โหยิ่งใหญ่ มันจะมีพลังตีกลับมากขนาดนั้น ช่วงนั้นมีคนเชิญตนไปร่วมงานที่บางจังหวัด ถูกประกาศสาธารณะอย่าไปเด็ดขาด ไม่รับรองความปลอดภัย สะเทือนใจตนมาก ทำไมเขาจึงได้โกรธแค้นชิงชังเราได้ถึงขนาดนั้น

นายจรัญ กล่าวว่า นั่นเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีระบบงานยุติธรรม ทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความขัดแย้งทางการเมือง เคลื่อนตัวกันไปต่อสู้เป็นนิติสงคราม ดีกว่าสงครามกลางเมือง ดีกว่าสงครามที่ปลุกระดม ก่นด่ากันทางสื่อออนไลน์ นั่นอันตราย นั่นคือยาพิษที่ฝังลงไป สงครามสื่อก็อันตรายไม่น้อยกว่า สงครามบนท้องถนน สงครามระหว่างประชาชนคนไทยด้วยกัน แต่สงครามทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่มีกฎหมายวางขั้นตอนเอาไว้ชัดเจน มีบุคลากรจะต้องรับผิดชอบ ทำหน้าที่และในที่สุดก็ให้แพ้ชนะกันในทางคดีแล้วจบ ฝ่ายที่แพ้ก็ให้มีสปิริตเหมือนกับเล่นกีฬา

...


นายจรัญ กล่าวอีกว่า บางครั้งนักการเมืองผู้ใหญ่ในบางช่วงยังบอกเลย ภาวะหมือนทำให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งตรงจากประชาชนเหมือนเป็นทาส ระบบรัฐสภา ถือว่าทรงอำนาจสูงสุดของประชาชนในแผ่นดิน ที่เราจะเอาแบบของสหราชอาณาจักรมา มันไม่จริง มันกลายเป็นสภาทาส อยู่ในกำมือของพรรคการเมือง สส.สมัครอิสระไม่ได้ และสส.หากแหวกมติพรรคก็ไม่ได้ ไม่ราบรื่น กรรมการบริหาร ผู้ใหญ่คุมพรรค และไปเป็นฝ่ายบริหาร แล้วใครคุมพรรคอีกเบื้องหลัง ระบบรัฐสภาไทย อำนาจรวมศูนย์อยู่กับฝ่ายบริหาร มีองคาพยพข้าราชการประจำเป็นเหมือนกองกำลัง กองทัพ เมื่อฝ่ายบริหาร รวมตลอดตั้งแต่ข้างล่าง ขึ้นไปจนถึงบริหารสูงสุด ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองของประเทศเรา ใครจะกำกับดูแลได้ ถ้าสมมติระบบนี้ถูกยกเลิกหมด นั่นคือการถอยหลังเข้าคลองกลับไปสู่ยุคก่อน 2540