หลังจากปล่อยให้อึมครึมมาหลายวัน นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็ออกมายืนยันว่ารัฐบาลจะ ลุยเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย– กัมพูชา

เพื่อเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานปริมาณมหาศาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยฝ่าย สมเด็จฯฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา ก็ต้องการให้เร่งพัฒนาขุมทรัพย์ใต้ทะเลในพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม. ขึ้นมาใช้ประโยชน์เช่นกัน

เพราะหากนำก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่เองขึ้นมาใช้ทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติราคาแพง

จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง 30–40 เปอร์เซ็นต์!!

รัฐบาลไทย–กัมพูชาเซ็นเอ็มโอยูเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานมาตั้งแต่ปี 2544

เท่ากับเราปล่อยเวลาผ่านไป 23 ปี โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลที่มีอยู่บานตะเกียง

วันนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็ร่อยหรอไปทุกที

ถ้าไม่เร่งพัฒนาแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ให้ทันเวลา คนไทยจะต้องถูกโขกค่าไฟฟ้าแพงไปอีกหลายสิบปี

การเร่งเดินหน้าเจรจาแบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยโดยตรง!!

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าสาเหตุที่การเจรจาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย– กัมพูชาต้องยืดเยื้อมากว่า 20 ปี

เพราะ “เอ็มโอยู 2544” ที่ไทย–กัมพูชาลงนามไว้กำหนดให้เจรจาเส้นเขตแดนให้จบลงก่อน

แล้วจึงเริ่มเจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงาน

ปรากฏว่าฝ่ายกัมพูชาจงใจลากเส้นเขตไหล่ทวีปแฉลบมากินพื้นที่ประเทศไทยมากเกินควร

คือดันลากเส้นผ่ากลางอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทยไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยอมรับและรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ถ้าจะรอให้การเจรจาปักปันเส้นเขตแดนทางทะเลได้ข้อยุติก่อนค่อยเจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงาน

...

คงต้องรอไปชาติหน้าตอนบ่ายอย่างแน่นอน

ล่าสุด ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้เริ่มเจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงานก่อนแล้วค่อยเจรจาปัญหาเขตแดนทางทะเลเป็นช็อตต่อไป

แต่ฝ่ายไทยยืนยันตามเอ็มโอยูต้องเจรจาเขตแดนให้จบก่อน

แล้วค่อยเจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงาน

ปัญหาติดขัดจึงอยู่ที่ฝ่ายไทย ไม่ใช่ติดขัดที่ฝ่ายกัมพูชา

“แม่ลูกจันทร์” มองว่าไม่ควรเอา 2 เรื่องไปผูกติดกันเป็นเรื่องเดียว

ทางออกที่ควรทำคือ “แก้ไขเอ็มโอยู” ให้เจรจาปัญหาเส้นเขตแดน และเจรจาผลประโยชน์แหล่งพลังงานคู่ขนานกันไป

ถ้าไม่แก้ไขเอ็มโอยูก็จะติดแหง็กอย่างนี้ไปอีกห้าร้อยปี

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า วันนี้ปัญหาขาดแคลนแหล่งพลังงานเป็นวาระเร่งด่วนต้องเร่งให้จบโดยเร็ว

แต่การเจรจาเส้นแบ่งอาณาเขตทางทะเลทั้ง 2 ฝ่าย ต้องปรับแก้เส้นเขตแดนให้โปร่งใสเป็นธรรมและตรงความจริง

ความจริงคือกัมพูชาย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า “เกาะกูด” เป็นของไทยมานมนานกาเล

จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “เกาะกูด” จะอยู่ในเขตกัมพูชา

ฉันใดก็ฉันเพล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตีเส้นให้ “เกาะกง” ของกัมพูชาอยู่ในเขตประเทศไทย

อะไรที่มันไม่เข้าท่าก็อย่าหาทำดีกว่านะโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม