ผลสำรวจซูเปอร์โพล 1,146 ตัวอย่าง 50.5% ชี้ การเงินกระเป๋าตัวเองวิกฤติ ขณะที่ 49.5% บอก ไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ แต่กังวลดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ปลอดภัย เสี่ยงทุจริต สวมสิทธิ์ เผย คะแนนหนุนเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลลดลง

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง “จำนวนคนไทยในวิกฤติการเงิน” จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา 

เมื่อถามจากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทย อายุ 16-85 ปี มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน พบว่า ร้อยละ 50.5 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งเป็นคนไทย จำนวน 26,975,827 คน ขณะที่ร้อยละ 49.5 ระบุ ไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ

ขณะที่เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค ที่ระบุว่าการเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤติ พบว่า คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 รองลงมา คือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลาง ร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือ ร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8

ส่วนประเด็นข้อกังวล ถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลจริง พบว่า 

  • ร้อยละ 32.7 กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพ ออนไลน์ รวมถึงมีความกังวลภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง
  • ร้อยละ 30.7 กังวลการทุจริตเชิงนโยบาย
  • ร้อยละ 24.2 กังวลการสวมสิทธิ์
  • ร้อยละ 22.6 กังวลความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย
  • ร้อยละ 21.7 กังวลประชาชนเสียวินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ
  • ร้อยละ 19.2 กังวลประชาชนผู้ห่างไกลเทคโนโลยี เข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้
  • ร้อยละ 14.9 กังวลประเทศสูญเสียโอกาสพัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ

...

ถ้าวันนี้เลือกตั้ง สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเลือกพรรคในรัฐบาล โดยเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า 

  • กลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ลดลงจากร้อยละ 40.5 ในเดือนมกราคม ไปอยู่ที่ร้อยละ 31.2
  • กลุ่มไม่สนับสนุน ก็ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 39.3 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.4
  • กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ร้อยละ 53.4 


สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุในช่วงท้ายว่า ผลโพลนี้เมื่อพิจารณาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนคนไทยแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงถ้าหากปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมือง ความแตกแยกรุนแรงบานปลายขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจทั้งระดับฐานรากและภาพรวมของประเทศอาจจะกลายเป็นโจทย์ท้าทายใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก ทางออกคือการตัดไฟแต่ต้นลม และการผูกโยงทำไปพร้อมๆ กันระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งรัฐ และการลดทอนความเป็นตัวตนของกลุ่มสร้างความวุ่นวายต่างๆ ที่จะก่อเกิดความแตกแยกของคนในชาติ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเร่งด่วนเวลานี้.