"วันนอร์" ร่วมถอดบทเรียนวิกฤตการณ์ปาเลสไตน์ เรียกร้อง "อิสราเอล" ยอมรับมติสหประชาชาติ หยุดยิง-หยุดทรมาน เดินหน้าใช้เวทีโลกกดดัน ยันไทยสนับสนุนสันติภาพ พร้อมเจรจาช่วย 8 ตัวประกันคนไทยที่ยังติดอยู่
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 67 ที่ห้องแกรนด์ มีรอซ ชั้น 3 โรงแรมอัลมีรอซ รามคำแหง กรุงเทพฯ สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง "วิกฤตการณ์ปาเลสไตน์ในปัจจุบัน : สาเหตุ ปัญหา พัฒนาการ ผลกระทบต่อโลกอิสลามและไทย" เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทำความเข้าใจ ทั้งในมิติสาเหตุ ปัญหา พัฒนาการและความท้าทายร่วมสมัยของวิกฤตการณ์เผชิญหน้าปาเลสไตน์-อิสราเอลในรอบปัจจุบัน โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และฮุจญตุลอิสลามซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำมุสลิมชีอะห์แห่งประเทศไทย ประธานมูลนิธิอัลละห์ดีและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ร่วมเสวนา ภายใต้หัวข้อ "บทบาทหลักในการช่วยเหลือแรงงานไทยและมุสลิมไทย ท่ามกลางวิฤตการณ์ปาเลสไตน์" ดำเนินการเสวนาโดย นายสมพร หลงจิ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเอ็มทูเดย์
...
ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันว่า นอกเหนือจากความเป็นมุสลิมแล้ว การช่วยเหลือครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของประธานรัฐสภา ที่ต้องดูแลความสุข-ทุกข์ของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ หน้าที่ของเราคือต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทันที เพราะเราไม่อาจจะไปรบในกาซา ไม่สามารถจะไปเห็นว่าประชาชนที่นั่นเดือดร้อนอย่างไร แต่อย่างน้อยความเห็นใจต้องมีความเห็นใจ โดยไม่ได้มองว่าเป็นการล้ำเส้นรัฐบาล เพราะไม่ว่าจะเป็นคนไทยคนใดหรือองค์กรใด ถ้าสามารถช่วยเหลือชีวิตของคนไทยได้ ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน รัฐบาลก็เข้าใจเป็นอย่างดี แต่บางบทบาทนั้นรัฐบาลไม่สามารถทำได้ เพราะข้อผูกพันของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การเจรจาติดต่อกันโดยตรง ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำไม่ได้
"ช่วงนั้นทูตอิสราเอลเดินทางมาพบผมที่รัฐสภา แล้วเล่าเรื่องการจับตัวประกัน ผมดูท่าทีแล้วคิดว่าเรื่องนี้คงยาว ไม่สงบง่ายๆ ลองคิดดูว่าถ้าเราถูกจับตัวประกันในที่ที่เราไม่รู้จัก ภาวะทางจิตใจคงเป็นทุกข์มากแน่นอน ไม่รู้ว่าชะตากรรมจะถูกปล่อยเมื่อไหร่ ฉะนั้นผมจึงเห็นใจคนกลุ่มนี้ ถ้าเราสามารถช่วยเหลือได้ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถจะให้ได้รับการปลดปล่อย แต่ให้รู้ว่ามีคนกำลังช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งซัยยิดสุไลมานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ก็จะสามารถช่วยได้" นายวันนอร์กล่าว
ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงบทบาทรัฐสภาไทยกับการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วยว่า รัฐสภาไทยเป็นเครือข่ายสมาชิกในองค์กรรัฐสภาหลายองค์กร อาทิ รัฐสภาโลก (IPU) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมีนาคมนี้ โดยคาดว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศที่เข้าร่วม จะนำปัญหาปาเลสไตน์ขึ้นมาหารือ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ผู้แทนรัฐสภาไทยยืนหยัดตามมติของสหประชาชาติ คือต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวปาเลสไตน์ ต้องหยุดยิงและต้องไม่มีการทรมาน เพราะมติของสหประชาชาติมีความชัดเจน ในเรื่องของการปกครองในเรื่องมนุษยธรรม แต่ปัจจุบัน คือ อิสราเอลกับประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ไม่ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐสภาโลกต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป นอกจากนี้ ยังมีเวทีของรัฐสภาเอเชีย ซึ่งจะประชุมร่วมกัน ที่อาเซอร์ไบจาน วันที่ 20-24 ก.พ. นี้ โดยตนจะเดินทางไปประชุมด้วยตนเอง เพื่อติดตามมติสหประชาชาติและมติของสังคมโลก
"เราก็สนับสนุนมติของสหประชาชาติและปาเลสไตน์อยู่แล้ว มติของสหประชาชาติซึ่งเป็นมติของชาวโลก สนับสนุนข้อเรียกร้องของชาติปาเลสไตน์ โดยเฉพาะของรัฐสภาก็สนับสนุน แต่ที่ยังไม่สามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะมีการปฏิเสธจากประเทศอิสราเอล และบางมหาอำนาจไม่ให้ยอมรับ ซึ่งทำให้เป็นปัญหายืดเยื้อและเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลืออย่างไม่ยอมแพ้" ประธานรัฐสภา กล่าวและเรียกร้องคนไทยที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยกันรับฟังติดตามสถานการณ์อย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือ
ขณะที่ ฮุจญตุลอิสลามซัยยิดสุไลมาน เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในปาเลสไตน์ว่า ได้มีการหารือกับผู้ใหญ่ถึงการมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน เพราะเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่มีกับอิหร่าน รวมทั้งความสัมพันธ์กับขบวนการปาเลสไตน์เป็นอย่างดี จึงมีการแต่งตั้งผู้เจรจาขึ้น โดยเลือกขอความช่วยเหลือจากอิหร่านมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลกับฮามาสมากที่สุด และให้การสนับสนุนฮามาสในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ การเงิน หรือยุทธวิธี รวมทั้งมองว่าถ้าจบปัญหานี้ได้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างซุนนีกับชีอะห์ในประเทศไทย ยืนยันว่าคนไทยไม่ได้ติดร่างแห แต่ถูกหลอกไปทำงานในดินแดนที่มีข้อพิพาทกัน หากใครอยู่บริเวณนั้นคือผู้รุกราน ดังนั้นคนไทยเลยถูกจับไป แต่คนไทยจำนวนมากยืนข้างปาเลสไตน์ ภาคประชาชนเอื้อการทำงานเป็นอย่างมาก ส่วนความช่วยเหลือตัวประกันไทยอีก 8 คนที่เหลือนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากกว่ากรณีก่อนหน้านี้ เพราะไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ได้อยู่ในการเจรจา แต่อีกฝ่ายรับปากจะดูแลให้ อย่างไรก็ตาม มองว่าสงครามนี้เป็นสงครามทั้งอุดมการณ์และศาสนา จบยาก ต้องให้ยิวใหม่ออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์ทั้งหมดจึงจะจบ